ทุกวันนี้ข้อมูลส่วนตัวของเราถูกเก็บในรูปแบบ Centralized (เก็บและดูแลโดยองค์กรใดองค์กรหนึ่ง) ซึ่งการเก็บแบบนี้มีประโยชน์ตรงที่ความสะดวกและความรวดเร็วในการใช้งาน แต่ผู้ใช้งานจะไม่มีสิทธิ์เต็มที่ในการเลือกว่าจะแชร์หรือไม่แชร์ข้อมูลใด ทำให้มีความเสี่ยงที่ข้อมูลจะสูญหาย การละเมิดความเป็นส่วนตัว และนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์

แต่การมาของ Web3 ได้เปลี่ยนวิธีที่เราจะปฎิสัมพันธ์กับผู้คนอื่นในโลกออนไลน์ โดย Web3 มีการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นเบื้องหลัง แอพพลิเคชั่นที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนสามารถทำงานได้โดยไม่มีความจำเป็นต้องเชื่อใจบุคคลที่ 3

บล็อกเชนสามารถสร้างอินเทอร์เน็ตแบบไร้ศูนย์กลาง (Decentralized Internet) ที่ผู้ใช้งานสามารถควบคุมข้อมูลส่วนตัวของตนเองได้มากขึ้น และยิ่งกว่านั้นการเกิดขึ้นมาของที่เก็บข้อมูลแบบไร้ศูนย์กลาง (Decentralized Storage) ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงและเก็บข้อมูลส่วนตัวแบบกระจาย แทนที่จะเก็บที่เซิร์ฟเวอร์ส่วนกลางเพียงที่เดียว

Centralized Storage กับ Decentralized Storage ต่างกันอย่างไร

Centralized Storage

การเก็บข้อมูลรูปแบบนี้ถูกใช้เป็นปกติมานานหลายสิบปี การเก็บข้อมูลรูปแบบนี้จะมีผู้ให้บริการที่จัดการและเก็บข้อมูลบนเซิร์ฟเวอร์เดียวหรือกลุ่มของเซิร์ฟเวอร์ โดยปกติแล้วจะอยู่ในที่เดียวกัน วิธีการนี้นั้นง่ายต่อการเข้าถึงและจัดการข้อมูล เช่น การเก็บข้อมูลบน Cloud ที่ปกติแล้วจะเก็บข้อมูลแบบ Centralized โดยเก็บข้อมูลบนเซิร์ฟเวอร์แล้วบริหารจัดการโดยองค์กรเดียว อย่างเช่น Amazon Google หรือ Dropbox

ส่วนระบบรักษาความปลอดภัย การเก็บข้อมูลรูปแบบนี้ส่วนใหญ่จะนำข้อมูลไปเข้ารหัสด้วยเทคโนโลยี SSL 128-bit เมื่อนำข้อมูลจากเราเข้าไปสู่เซิร์ฟเวอร์ และอาจจะเข้ารหัสด้วย 256-bit เมื่ออยู่บนเซิร์ฟเวอร์

Decentralized Storage

อย่างไรก็ตามการเก็บข้อมูลแบบเดิมก็ยังงมีข้อจำกัด ไม่ว่ามาตรการรักษาความปลอดภัยจะเข้มงวดเพียงใด แพลตฟอร์มเก็บข้อมูลก็มี Key สำหรับเข้ารหัส ซึ่งเพิ่มความกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการเข้าถึงข้อมูล ความโปร่งใส และการควบคุม เช่น แฮคเกอร์สามารถพบเจอความผิดพลาดเล็กๆแล้วพยายามที่จะเจาะเข้าข้อมูลขนาดใหญ่ เพราะข้อมูลทั้งหมดนั้นเก็บไว้ในที่เดียว

ในทางกลับกัน ระบบเก็บข้อมูลแบบกระจาย จะจัดเก็บข้อมูลผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์หลายเครื่องที่กระจายอยู๋หลายพื้นที่ในโลก แทนที่จะเก็บในที่เดียว ด้วยวิธีการนี้จะทำให้สามารถเก็บข้อมูลจำนวนมากเท่าที่เป็นไปได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเซิร์ฟเวอร์กลางหรือผู้ให้บริการเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งช่วยลดปัญหาการปิดกั้นข้อมูลการบุกรุกความเป็นส่วนตัวที่อาจเกิดขึ้น

Decentralized Storage ทำงานอย่างไร

ที่เก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Storage) ทำงานโดยการเก็บข้อมูลไว้ในคอมพิวเตอร์หรือโหนด (node) หลายๆเครื่อง เชื่อมต่อกันโดยเครือข่าย P2P

ข้อมูลที่อัปโหลดเข้าไปในที่เก็บข้อมูลกระจายศูนย์จะถูกแยกเป็นชิ้นส่วนเล็กๆแล้วส่งไปเก็บที่โหนดหลายๆตัวในเครือข่าย ถ้าเราต้องการเรียกข้อมูล เครือข่ายจะทำการรวบรวมชิ้นส่วนข้อมูลแล้วประกอบกัน จากนั้นข้อมูลตัวเต็มจะถึงมือเรา

ซึ่งโหนดในที่เก็บข้อมูลกระจายศูนย์จะไม่สามารถดูหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลของเราได้ เพราะมีการเข้ารหัสด้วย hash โดยอัตโนมัติเมื่อทำการเก็บข้อมูลในเครือข่าย ผู้ใช้งานจะต้องใช้ private keys เพื่อเข้าถึงข้อมูลของตน ซึ่งเป็นการป้องกันคนอื่นเข้าถึงข้อมูลของเราไปในตัว

จุดเด่นของ Decentralized Storage

การเก็บข้อมูลรูปแบบนี้มีทั้งจุดเด่นและจุดด้อย ซึ่งจุดเด่นบางอย่างก็สามารถแก้ปัญหาบางอย่างที่การเก็บข้อมูลในเซิร์ฟเวอร์เดี่ยวแบบเดิมเผชิญอยู่ได้ ต่อไปนี้คือจุดเด่นที่การเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์สามารถทำได้และได้เปรียบการเก็บข้อมูลแบบเดิม

เพิ่มความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว

การเก็บข้อมูลไว้ในจุดเดียวอ่อนไหวต่อการโจมตีทางไซเบอร์ แต่การเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์มีการรักษาความปลอดภัยที่แน่นหนากว่า เนื่องจากข้อมูลถูกกระจายไปตามโหนดต่างๆ แทนที่จะอยู่ในเซิร์ฟเวอร์เครื่องเดียว ซึ่งเพิ่มความลำบากให้กับแฮกเกอร์ในการเจาะที่เก็บข้อมูลกระจายศูนย์ ทำการประกอบข้อมูลแล้วดึงออกมา และยิ่งไปกว่านั้น ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องระบุตัวตนในการเก็บข้อมูล ซึ่งเพิ่มความเป็นส่วนตัวไปอีกขั้นหนึ่ง

ป้องกันข้อผิดพลาด

การเก็บข้อมูลแบบดั้งเดิมมีข้อดีที่สามารถเข้าถึงและจัดการข้อมูลได้ง่ายกว่า แต่ก็มีโอกาสที่จะเกิดข้อผิดพลาดที่ทำข้อมูลของเราสูญหายได้ แต่เครือข่ายกระจายศูนย์เก็บข้อมูลในโหนดหลายๆตัว ข้อมูลจึงมีหลาย copy ซึ่งป้องกันความผิดพลาดที่ข้อมูลจะสูญหาย กังนั้นผู้ใช้งานจึงสามารถเข้าถึงข้อมูลจากโหนดอื่นๆบนเครือข่ายได้ แม้ว่าโหนดหนึ่งจะหยุดทำงาน

ดาวน์โหลดเร็วขึ้น

การเก็บข้อมูลในเซิร์ฟเวอร์เดียวอาจพบเจอปัญหาคอขวด ถ้ามีผู้ใช้งานจำนวนมากพยายามเข้าถึงข้อมูลในเวลาเดียวกัน แต่การเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์สามารถลด bandwidth ได้เนื่องจากโหนดที่เก็บข้อมูลมีหลายที่แล้วกระจายไปทั่วโลก

ต้นทุนต่ำกว่า

เนื่องจากมีโหนดเก็บข้อมูลหลายตัว จึงมีพื้นที่เก็บข้อมูลมากกว่าการเก็บข้อมูลในที่เดียว ส่งผลให้การเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์มีต้นทุนต่ำกว่าโดยเฉพาะผู้ใช้งานรายเล็กๆ

ปรับปรุงความสมบูรณ์ของข้อมูล

ความสมบูรณ์ในแง่นี้หมายถึงความรักษาคุณภาพเดิมของข้อมูลตลอดอายุการใช้งาน การรักษาคุณภาพของข้อมูลเป็นสิ่งที่ท้าทาย เนื่องจากข้อมูลจะไม่สามารถใช้งานได้หากมีบางอย่างเกิดขึ้นกับเซิร์ฟเวอร์หรือเว็บเพจถูกย้ายไปยังตำแหน่งอื่น แต่สำหรับการเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ ข้อมูลจะยังคงสามารถเข้าถึงได้โดยไม่มีกำหนด และจะไม่เสียหายแม้ผ่านการ hash

จุดด้อยของ Decentralized Storage

แม้การเก็บข้อมูลจะมีประโยชน์ขนาดไหน แต่มันก็ยังมีข้อจำกัดหรือจุดด้อยอยู่ ตัวอย่างเช่น เนื่องจากระบบจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์กระจายข้อมูลไปยังโหนดบนเครือข่ายหลายๆตัว ในการเรียกใช้ข้อมูลอาจจะต้องใช้เวลาในการเข้าถึงพอสมควร

อีกประการคือการเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์อาจจะปลอดภัยกว่าแบบรวมจุดเดียวในด้านของความเป็นเจ้าของข้อมูล แต่มันก็มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยด้านอื่นๆเช่น โหนดที่เป็นอันตรายอาจส่งผลต่อความปลอดภัยของข้อมูลที่จัดเก็บไว้ในเครือข่าย

รวมถึงระบบการเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์นั้นอาศัยโครงสร้างพื้นฐานของเครือข่ายในการทำงานให้ถูกต้อง ดังนั้นการเรียกข้อมูลที่เก็บบนเครือข่ายอาจมีปัญหา หากเครือข่ายนั้นขัดข้อง นอกจากนี้ยังมีเรื่องการขาดมาตรฐานเดียวกันในการจัดเก็บข้อมูล เครือข่ายที่ต่างกันอาจจะใช้วิธีการเข้ารหัสและกลไกพิสูจน์ตัวตนที่แตกต่างกัน ทำให้ยากต่อการทำงานร่วมกัน

Reference:

Binance Academy