บิตคอยน์ ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้คนกลางครั้งแรกของโลก บิตคอยน์ให้ความสำคัญไปที่ความไร้ศูนย์กลาง การส่งเงินและรับเงินกันโดยที่ไม่ต้องมีคนกลางมาตรวจสอบ

   ซึ่งบิตคอยน์ก็สามารถบรรลุเป้าหมายได้ ด้วยการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายบล็อกเชน บล็อกเชนตัดคนกลางที่ทำหน้าที่ดูแลระบบออกไป แต่ให้ทุกคนในระบบ ดูแล รับรอง และตรวจสอบทุกอย่างที่เกิดขึ้นในระบบแทน

   แต่การจะให้ทุกคนตรวจสอบ รับรอง มันก็มีขั้นตอนที่ซับซ้อน และต้องใช้เวลามากกว่าการมอบอำนาจให้คนกลางตรวจสอบแน่นอน ซึ่งเทียบกับระบบการชำระเงินแบบมีคนกลางอย่าง Visa ที่สามารถทำธุรกรรมได้มากกว่า 3200 ธุรกรรมต่อวินาที แต่บิตคอยน์ทำได้ 7 ธุรกรรมต่อวินาที แล้วแบบนี้บิตคอยน์จะหมดอนาคตหรือเปล่า? คนส่วนใหญ่ในโลกจะใช้งานยังไงกับอัตราการทำธุรกรรมเท่านี้ การจะตอบคำถามนี้เราต้องรู้ก่อนว่าบิตคอยน์มีข้อจำกัดอย่างไร แล้วประโยชน์ของบิตคอยน์จริงๆคือสิ่งใด

 

ข้อจำกัดของบิตคอยน์

   บิตคอยน์และเช่นเดียวกับคริปโทเคอร์เรนซีอื่นๆ ต่างอยู่บน 3 ขีดจำกัดของบล็อกเชน เมื่อเลือกอย่างหนึ่ง ก็ต้องลดอีกอย่างหนึ่ง หรือที่เรียกว่า blockchain trilemma ซึ่งประกอบไปด้วย การกระจายศูนย์ (Decentralized), ความปลอดภัย (Security) และ ความสามารถในการขยายเครือข่าย (Scalability)

   บิตคอยน์ต้องการเป็นเงินที่ไร้ศูนย์กลางอย่างแท้จริง ไม่มีใครควบคุม ผู้สร้างไร้ตัวตน แต่การจะสร้างเงินที่ไร้ศูนย์กลางมันก็มีสิ่งที่ต้องแลก นั่นคือความเร็วในการทำธุรกรรม เวลาเครือข่ายบล็อกเชนของบิตคอยน์จะบันทึกข้อมูล จะบันทึกข้อมูลลงสู่ ”บล็อก” การบันทึกข้อมูลของบิตคอยน์ไม่ใช่การบันทึกไว้บนเซิร์ฟเวอร์ แต่คือการบันทึกลงบน node ทุก node ในเครือข่าย (node คือคนที่ทำการบันทึกสำเนาข้อมูลของบิตคอยน์ทุก node จะมีข้อมูลเหมือนกันทุกอย่าง ซึ่งตอนนี้มีอยู่มากกว่า 16000 node) ซึ่งแต่ละบล็อกข้อมูลถูกดีไซน์มาให้มีขนาด 1 mb เพื่อที่จะได้ไม่ใหญ่เกินไปสำหรับคอมพิวเตอร์ที่ต้องบันทึกทุก 10 นาที แล้ว 1 mb มันเล็กเกินไปหรือเปล่า? สามารถขยายขนาดได้อีกหรือไม่?

   เราต้องมาดูก่อนว่าบิตคอยน์บันทึกข้อมูลเพิ่มขึ้น 1 mb ทุก 10 นาที จนตอนนี้ทุก node ต้องบันทึกข้อมูลกว่า 390 gb ซึ่งยังพอสำหรับให้คอมพิวเตอร์ทั่วๆไปสามารถบันทึกได้ตอนนี้และในอนาคต แต่ถ้าเราต้องให้บิตคอยน์มีจำนวนธุรกรรมมากกว่า 7 ธุรกรรมต่อวินาที เป็น 3200 ธุรกรรมต่อวินาทีเท่า Visa ล่ะจะเป็นยังไง

   บล็อกเชนต้องมีขนาดต่อบล็อกอยู่ที่ 800 mb หรือใหญ่กว่าเดิม 800 เท่า และทุกๆ 10 นาที node ก็ต้องบันทึกข้อมูลเพิ่มขึ้น 800 mb เมื่อครบ 1 ปี node จะต้องบันทึกข้อมูลเพิ่มขึ้นถึง 42000 gb ซึ่งสูงเกินไปที่คอมพิวเตอร์ทั่วไปในท้องตลาดจะรองรับได้ ถ้าคอมพิวเตอร์มีความจุ 1000 gb จะสามารถรองรับธุรกรรมขนาดนี้ได้เพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น และถึงแม้จะใช้คอมพิวเตอร์ที่มีความสามารถมากพอที่จะบันทึกข้อมูลลงไปได้ แต่คนส่วนใหญ่ก็มีต้นทุนไม่พอที่จะนำมาใช้งาน คนที่มีต้นทุนมากพอที่จะสามารถเป็น node ได้ก็น้อย การกระจายศูนย์ก็ลดลง

 

หัวใจของบิตคอยน์

   หลายๆคนอาจเคยมีคำถามว่าบิตคอยน์จะเป็นสกุลเงินแห่งอนาคตได้อย่างไร ในเมื่อผู้ใช้งานก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประชากรบนโลกก็มีเพิ่มขึ้น แต่บิตคอยน์ยังทำธุรกรรมได้ 4-7 ธุรกรรมต่อวินาทีเท่าเดิม การจะตอบคำถามนี้เราต้องย้อนมาที่หัวใจของบิตคอยน์ สิ่งที่บิตคอยน์ต้องการแก้ปัญหาจริงๆคืออะไร 

ทำความรู้จัก Bitcoin ทำไมต้อง Bitcoin?

Bitcoin : ทองคำดิจิทัล ?

Bitcoin : ความไว้ใจ 0% ตรวจสอบได้ 100 %

Bitcoin : มีมูลค่าจริงหรือคิดไปเอง

   บิตคอยน์เกิดมาเพื่อแก้ปัญหาการควบคุมเงินของรัฐ ยิ่งรัฐมีอำนาจควบคุมเงินมากเท่าใด เราก็ตกอยู่ใต้อำนาจของรัฐมากขึ้นเท่านั้น โดยรัฐไม่ต้องออกกฎหมายหรือมีกำลังทหารมาคอยควบคุมเราเลย เพียงแค่มีอำนาจในการควบคุมปริมาณเงินในระบบ เราก็ต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้รัฐบาลแล้ว รัฐสามารถเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้เราใช้จ่ายน้อยลงเก็บออมมากขึ้น และลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้เราเลิกเก็บออมแล้วนำมาใช้จ่ายมากขึ้น หรือแม้กระทั่งการพิมพ์เงินเข้ามาในระบบ (QE) ก็ทำให้ปริมาณเงินในระบบเพิ่มขึ้นจนเราอยู่เฉยๆก็จนลงได้

   ยกตัวอย่างประเทศที่ใช้บิตคอยน์เข้าไปช่วยแก้ปัญหา โดยใช้ประโยชน์ของบิตคอยน์ด้านความเป็นเงินที่ไม่ขึ้นต่อใครอย่างประเทศยูเครน ที่ให้คนที่เห็นใจกับภาวะสงครามที่กำลังเกิดขึ้นและต้องการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินกับยูเครน สามารถบริจาคบิตคอยน์มาให้กับรัฐบาลและองค์กรเอกชนของประเทศยูเครน ซึ่งการบริจาคบิตคอยน์ไม่ต้องผ่านสถาบันการเงินตัวกลางที่อาจจะไม่อนุมัติเงินบริจาคให้กับยูเครน ซึ่งยอดเงินบริจาคมีมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์

   นี่แสดงถึงอิสระภาพทางการเงินของเงินที่ไร้ศูนย์กลาง ไม่ว่าเราจะอยู่ที่แห่งไหนในโลก เราสามารถส่งบิตคอยน์ให้กับคนที่อยู่ไกลคนละซีกโลก โดยไม่ต้องกลัวว่าเงินจะหาย เงินจะไม่ถึงผู้รับ และไม่ต้องมีใครมาอนุมัติเงิน เท่านี้ก็ถือว่าบิตคอยน์ก็ได้ใช้ประโยชน์ในสิ่งที่มันเป็นแล้ว หรือแม้ประเทศผู้เริ่มสงครามเองอย่างรัสเซียที่ได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรจากนานาประเทศจนทำให้ค่าเงินรูเบิลตกไปประมาณ 40% ในช่วงระยะเวลาของสงคราม แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของเงินในตอนนี้ และทำให้รู้ว่าอำนาจของรัฐบาลที่มีต่อเงินมีมากเพียงใด อำนาจขนาดที่ประชาชนตื่นลืมตามาในตอนเช้าเงินในประเป๋าก็หายไปเกือบครึ่ง 

 

บิตคอยน์เป็นแหล่งเก็บมูลค่า

   หรือจริงๆแล้วบิตคอยน์เหมาะจะเป็นแหล่งรักษามูลค่าเพียงอย่างเดียว เหมือนเราเก็บเงินใส่ตู้เซฟ ซึ่งตู้เซฟกระจายแยกกันเป็นหมื่นๆชิ้น ทำให้เงินนั้นปลอดภัยจากทุกอำนาจที่จะมาคุกคาม ไม่ว่าจะเป็นมิจฉาชีพ นโยบายการเงิน และสงคราม ซึ่งการเก็บรักษาไว้อาจเหมาะกว่าการนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันทั่วไป เพราะการนำเงินนั้นออกมาใช้ก็มีต้นทุนและมีระยะเวลาที่ไม่เหมาะกับการใช้จ่ายอย่างรวดเร็ว

   แต่ถึงอย่างนั้นอนาคตอะไรก็เกิดขึ้นได้ บิตคอยน์สามารถเติบโตมาได้อย่างรวดเร็ว และยังสามารถเติบโตได้อีกยาวไกล เราจะมองดูมันเติบโตอยู่ห่างๆหรือจะเข้าไปมีส่วนร่วมก็อยู่ที่การพิจารณาของแต่ละคน

Referrence 

The Bitcoin Standard – Saifedean Ammous