จะแลกเปลี่ยนบิตคอยน์ไม่จำเป็นต้องไว้ใจใคร ถ้อยคำนี้เป็นไปได้หรือไม่? บนระบบบล็อกเชนของบิตคอยน์นั้นไม่เคยโกหก และสามารถตรวจสอบได้ 100 เปอร์เซนต์ วันนี้เราจะมาพูดถึงรูปแบบการตรวจสอบธุรกรรมของบิตคอยน์ โดยก่อนจะเริ่มขอพูดถึงธุรกรรมดิจิทัลที่อาศัยตัวกลางกันก่อน

ระบบการตรวจสอบธุรกรรมดิจิทัลแบบอาศัยตัวกลาง

การโอนเงินจากบัญชีหนึ่งไปบัญชีหนึ่งนั้นเราไม่ได้ทำการเคลื่อนย้ายเงินกันจริงๆไปมาระหว่างบัญชีแต่เป็นการหักลบตัวเลขทางบัญชีเท่านั้น อย่างเช่น Ash ต้องการโอนเงิน 10 บาทให้ Bob ก็จะทำการหักเงินที่บัญชี Ash 10 และเพิ่มเงินที่บัญชี Bob 10 บาท ด้วยการทำเช่นนี้ทำให้ผู้คนจับจ่ายใช้สอยโดยไม่ต้องใช้ตัวเงินที่เป็นเหรียญหรือธนบัตรจริงๆ แต่ก็มีจุดสำคัญที่ต้องใส่ใจอยู่จุดหนึ่งคือจะต้องมีคนกลางที่คอยบันทึกบัญชีทั้ง 2 ฝ่าย อย่างเช่นธนาคารต่างๆ

ระบบการตรวจสอบธุรกรรมแบบไม่อาศัยตัวกลาง

มีคอนเซปต์คือให้ทุกคนบันทึกทุกธุรกรรมที่เกิดขึ้น บันทึกลงในบัญชีธุรกรรมกลาง และเพื่อป้องกันการทำธุรกรรมซ้ำซ้อน อย่างกรณีที่ Ash ใช้เงินก้อนเดียวกันเพื่อจ่ายให้ Bob และ Cat จึงได้ทำการสร้างให้มีการบันทึกข้อมูลเป็นรอบๆอย่างรอบละ 10 นาที และใช้เพียงคนๆเดียวเพื่อทำการสรุปบัญชีในรอบนั้น แต่ก็ยังมีปัญหาอยู่ที่ “ใคร” จะได้เป็นผู้สรุปบัญชีในรอบนั้นๆ จึงมีการตั้งให้มีการสุ่มผู้บันทึกบัญชี ซึ่งจะมีเพียง 1 คนในแต่ละรอบบัญชีที่ได้รับหน้าที่สรุปบัญชี เมื่อผู้ได้รับหน้าที่สรุปบัญชีในยอดนั้นแล้วจะทำการประกาศให้กับสมาชิกคนอื่นๆ

และได้ป้องกันการแก้ไขบัญชีย้อนหลังด้วยการนำข้อมูลทุกอย่างที่อยู่ในรอบบัญชีนั้นมา Hashing (การ Hashing คือการนำข้อมูลมาเข้ารหัสแล้วข้อมูลจะกลายเป็นตัวเลขหรืออักษรอีกชุดหนึ่งที่ไม่เหมือนเดิม และตัวเลขหรือตัวอักษรที่ได้จากการนำข้อมูลมาเข้ารหัสจะไม่สามารถย้อนกลับไปเป็นข้อมูลต้นฉบับได้โดยเรียกว่า Hash ) โดยวิธีการป้องกันคือเราสามารถนำข้อมูลต้นฉบับมาเข้ารหัสอีกครั้งถ้า Hash ที่ได้ออกมา ตรงกับ Hash ที่ส่งมาด้วยแปลว่าข้อมูลชุดนั้นไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงนั่นเอง โดย Hash เปรียบเสมือนลายนิ้วมือ คือเรามีลายนิ้วมือชุดหนึ่งแต่ก็ไม่สามารถระบุได้ว่าบุคคลเจ้าของลายนิ้วมือคือใคร แต่เราจะรู้ได้ว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าของลายนิ้วมือถ้าเทียบลยนิ้วมือของบุคคลนั้นกับลายนิ้วมือที่เรามีแล้วมันตรงกัน

ก่อนที่จะมีบิตคอยน์เกิดขึ้น โลกเรามีการชำระเงินอยู่สองแบบคือการชำระด้วยเงินสดแบบเจอหน้ากัน และอีกแบบคือการชำระเงินแบบดิจิทัลที่ไม่ต้องอยู่ที่เดียวกันก็สามารถทำธุรกรรมได้ แต่ตอนนั้นการทำธุรกรรมแบบดิจิทัลต้องอาศัยบุคคลที่ 3 ไม่ว่าจะเป็นธนาคารหรือบริษัทเอกชนที่เราทำการเปิดบัญชีด้วย เช่น PayPal Mobile Banking ต่างๆ การชำระเงินแบบนี้มีความสะดวกและก็รวดเร็วก็จริงแต่เราต้องมีความเชื่อใจในบุคคลที่ 3

โดยบุคคลที่ 3 นี้ผู้เขียนไม่ได้จะบอกว่าไร้ความน่าเชื่อถือ แต่จะบอกว่าสำหรับผู้ที่คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ บิตคอยน์เกิดมาเพื่อที่จะไม่ต้องเชื่อในบุคคลที่ 3 หรือเชื่อใจผู้ใช้บิตคอยน์ด้วยกันเองด้วยซ้ำ สมาชิกในโครงข่ายบล็อกเชนที่อยู่เบื้องหลังของบิตคอยน์ทุกคนร่วมกันนำกำลังประมวลผลคอมพิวเตอร์ของตนเองมาทำให้ระบบบล็อกเชนนี้มีกำลังขุดมากเกินกว่าที่ใครจะสามารถเอาชนะ และตรวจสอบทุกธุรกรรมอยู่ตลอดเวลา สมาชิกคนไหนที่นำเข้าข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจะถูกปัดตกไปทันทีและใช้กำลังประมวลผลไปอย่างเสียเปล่า

ลองคิดกันเล่นๆว่าการที่จะมีกำลังขุดมากกว่าครึ่งหนึ่งในระบบและสามารถแก้ไขข้อมูลตามใจชอบได้ต้องมีแรงประมวลผลมากกว่าแลปทอป 2 ล้านล้านเครื่องรวมกัน และถึงจะมีแรงขุดระดับนั้นจริงก็ไม่มีประโยชน์อะไรนอกจากการทำให้บิตคอยน์ถูกทำลาย โดยที่ผู้ที่ทำก็ไม่มีผลตอบแทนอะไรเลย

 

 

Referrence

Bitcoin Talk #100 : Why Bitcoin? (14/12/2021) – [THAI]