สถานการณ์โลกที่มีผลต่อบิตคอยน์

เช่นเดียวกับสกุลเงินอื่นๆ บิตคอยน์ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โลก เนื่องจากบิตคอยน์เป็นสกุลเงินสาธารณะและกระจายอำนาจ ทั่วทุกภูมิภาคในโลกมีการใช้บิตคอยน์ มันจึงได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ต่างๆของเกือบทุกประเทศในโลก

โดยเฉพาะประเทศใหญ่ๆที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโดยตรง อย่างเช่นการประกาศสงคราม หรือวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งจริงๆแล้วภาวะเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคง ที่ทำให้สกุลเงินทั่วไปได้รับผลกระทบ กลับทำให้ความสามารถในการเพิ่มมูลค่าของบิตคอยน์สูงขึ้น

ช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจเติบโตและเริ่มสะสมความมั่งคั่ง ผู้คนส่วนใหญ่มักจะจัดสรรสินทรัพย์ทางเลือกอย่างเช่นบิตคอยน์เก็บไว้ในพอร์ตในสัดส่วนที่สูงขึ้น นอกจากนี้ ทัศนคติของนักลงทุนต่อความเสี่ยง อาจส่งผลต่อวิธีการปฏิบัติต่อบิตคอยน์ต่างจากสินทรัพย์แบบปกติ

เช่น พันธบัตรหรือหุ้น และอุปสงค์ของบิตคอยน์ยังขึ้นอยู่กับสกุลเงินอื่นๆ เช่นบางประเทศที่สกุลเงินท้องถิ่นมีความผันผวนหรืออยู่ภาวะเงินเฟ้อหนักๆ (hyper inflation) สกุลเงินบิตคอยน์ก็จะเข้ามาทดแทนในประเทศนั้น

.

เศรษฐกิจขยายตัวและเศรษฐกิจถดถอย

สภาพเศรษฐกิจโลกเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุดที่มีผลกระทบต่อราคาของสินทรัพย์ส่วนใหญ่ และบิตคอยน์ก็เช่นกัน ในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวหรือช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น เป็นช่วงเวลาที่ผู้คนมักมีความมั่งคั่งมากขึ้น มีเงินทุนมากพอสำหรับการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน ซึ่งความต้องการซื้อ (Demand) ที่เพิ่มมากขึ้นนี้เอง โดยปกติจะทำให้ราคาของสินทรัพย์สูงขึ้น

ในทางกลับกัน ช่วงเวลาที่เศรษฐกิจถดถอยบังคับให้ผู้คนใช้เงินอย่างประหยัดขึ้น มักใช้เงินไปกับสินค้าอุปโภคบริโภคมากกว่านำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่นหุ้นหรือบิตคอยน์ ทำให้สินทรัพย์เหล่านี้มูลค่าลดลง

.

ความเสี่ยงของตลาด

ในช่วง Risk on (ช่วงที่ตลาดมีความเสี่ยงต่ำหรือเศรษฐกิจมีความมั่นคง) นักลงทุนเต็มใจที่จะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น หากได้ผลตอบแทนที่เป็นไปได้นั้นสูงกว่า ตลาดที่มีความเสี่ยงต่ำมักมีการลงทุนในหุ้นมากขึ้น ในทางตรงกันข้าม ในช่วง Risk off (ช่วงที่ตลาดมีความเสี่ยงสูงหรือเศรษฐกิจไม่มั่นคง) นักลงทุนจะพยายามลดความเสี่ยงโดยการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ได้รับผลตอบแทนน้อยแต่มีความมั่นคงแทน

บิตคอยน์ประสบพบเจอกับความผันผวนและการเพิ่มขึ้นของราคามาบ่อยครั้งจนนับไม่ถ้วน ตั้งแต่ถือกำเนิดขึ้นมาในปี 2009 ซึ่งบิตคอยน์เป็นสินทรัพย์ที่นักลงทุนมักสนใจในช่วงที่ตลาดมีความเสี่ยงต่ำ แต่มันก็อาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป

เมื่อบิตคอยน์เป็นที่ยอมรับมากขึ้นและราคามีเสถียรภาพ ในที่สุดบิตคอยน์ก็อาจกลายเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำเช่นเดียวกับทองคำได้ เพราะทั้งบิตคอยน์และทองคำเองต่างก็มีลักษณะเฉพาะที่ดีในเรื่องการเก็บรักษามูลค่า ซึ่งส่วนใหญ่เกิดมาจากความจำกัด ที่ช่วยป้องกันภาวะเงินเฟ้อ

.

สกุลเงิน Fiat

ในประเทศส่วนใหญ่ มูลค่าของสินค้าและบริการจะมีหน่วยวัดเป็นสกุลเงินที่ออกโดยรัฐบาล (เงิน fiat) เช่นดอลลาร์หรือยูโร แต่เมื่อประเทศไหนประสบปัญหาเงินเฟ้อ สินค้าและบริการปริมาณเท่าเดิมแต่ต้องใช้จำนวนเงินมากขึ้นในการซื้อ ทำให้การถือครองสกุลเงินที่ประสบปัญหาเงินเฟ้อเป็นความเสี่ยงที่จะสูญเสียมูลค่าในเงินจำนวนนั้นไป

แหล่งเศรษฐกิจหลักของโลกทุกแห่ง ใช้เงินที่ออกโดยรัฐบาลที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดเงินเฟ้อ แต่อัตราเงินเฟ้อจะมีความรุนแรงแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศและช่วงเวลา ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อคือการเพิ่มขึ้นของอุปทาน (supply) ของสกุลเงิน

สำหรับบิตคอยน์แล้ว อุปทานมีจำนวนสูงสุดอยู่ที่ 21 ล้าน BTC ซึ่งทำให้สามารถต้านทานต่อภาวะเงินเฟ้อได้ มีประเทศที่นำบิตคอยน์มาใช้งานจริงในช่วงที่ประสบปัญหาเงินเฟ้ออย่างหนัก เช่นประเทศตุรกีและไนจีเรีย ที่มีการนำบิตคอยน์มาใช้อย่างผิดกฎหมายในปี 2021 ซึ่งเกิดจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงและประชาชนขาดความเชื่อมั่นในสกุลเงินของประเทศ

.

การออกกฎระเบียบของรัฐ

ถึงบิตคอยน์จะมีไม่มีเจ้าของ แต่มันก็ยังได้รับผลกระทบจากการกระทำของรัฐบาล แม้ว่ารัฐบาลจะไม่สามารถควบคุมบิตคอยน์ได้ แต่รัฐสามารถสร้างกฎหมายหรือสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเลิกใช้งาน หรือหันมาใช้บิตคอยน์ได้

ตัวอย่างเช่น รัฐบาลตุรกีและไนจีเรียที่สั่งห้ามการทำธุรกรรมบิตคอยน์ ด้วยความกลัวว่าในท้ายที่สุด ประชาชนจะทิ้งสกุลเงินที่ออกโดยรัฐไปใช้บิตคอยน์แทน แต่สิ่งนี้ไม่สามารถหยุดประชาชนจากการใช้บิตคอยน์อย่างแน่นอน แต่เพียงแค่ทำให้การใช้บิตคอยน์เป็นเรื่องยากขึ้น

และในตัวอย่างของประเทศที่ทำการสนับสนุนให้มีใช้บิตคอยน์ภายในประเทศ โดยการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยน เช่นสหรัฐอเมริกาและแคนาดาที่สนับสนุนการลงทุนในบิตคอยน์ โดยอนุญาติให้ Bitcoin ETF สามารถซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศ

Reference : River.com