บิตคอยน์ในปีนี้ได้รับการยอมรับจากสถาบันทางการเงิน และรัฐบาลมากขึ้น เช่นเหตุการณ์ที่กองทุนการลงทุนบิตคอยน์ (Bitcoin ETF) ได้รับการอนุมัติ การนำไปปรับใช้ในภาคส่วนต่างๆพิสูจน์ให้เห็นว่าบิตคอยน์จะสามารถรักษามูลค่าในระยะยาวไว้ได้ และสามารถสร้างผลกระทบกับระบบการเงินแบบดั้งเดิมในทางบวกได้

แต่ถึงแม้บิตคอยน์จะประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง แต่ข้อมูลที่ผิดๆและมอบความสับสน ที่ทำให้คนจำนวนมากเข้าใจผิดเกี่ยวกับบิตคอยน์ยังคงมีการพูดถึงและกระจายอยู่เต็มอินเทอร์เน็ต วันนี้เราจะมาบอกว่าสิ่งไหนเป็นข้อเท็จจริงหรือเป็นความเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับบิตคอยน์บ้าง

.

1.บิตคอยน์ปกปิดตัวตน

ความเข้าใจผิดที่พบบ่อยเกี่ยวกับบิตคอยน์ คือการที่ผู้ใช้งานสามารถใช้ปกปิดตัวตน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่ความจริง เนื่องจากบิตคอยน์ทุกเหรียญนั้นมีที่อยู่ (Address) บิตคอยน์ทั้งหมดจึงมีประวัติการเป็นเจ้าของและการโอนอย่างเปิดเผย ย้อนไปได้ตั้งแต่บิตคอยน์เพิ่งถูกสร้าง

นอกจากนี้บล็อกเชนของบิตคอยน์ช่วยให้ใครก็ตามสามารถดูธุรกรรมทั้งหมดในเครือข่ายได้ ดังนั้นทุกคนจึงสามารถเข้าไปตรวจสอบธุรกรรม ที่อยู่ Address และจำนวนบิตคอยน์ของใครก็ตามได้อย่างง่ายดาย

แต่อย่างไรก็ตาม Address เป็นเพียงชุดของตัวอักษรและตัวเลข และไม่ได้บอกว่าใครเป็นเจ้าของ เจ้าของเงินอาจจะกระจายบิตคอยน์ไปเก็บไว้ในกระเป็าเงินหลายๆกระเป๋า และบาง Address สามารถเก็บบิตคอยน์ของหลายๆคนไว้ได้หรือที่เรียกกันว่า Multisig Address ดังนั้นคำที่เหมาะสมกับบิตคอยน์ควรเป็นคำว่าไม่ระบุตัวตน มากกว่าคำว่าปกปิดตัวตน

.

2.บิตคอยน์ไม่มีมูลค่าโดยตัวของมันเอง

แม้ว่าบิตคอยน์จะไม่ได้มีสินทรัพย์ใดมาค้ำหรือหนุนหลัง แต่บิตคอยน์มีสิ่งที่หนุนหลังในลักษณะเดียวกับที่สกุลเงินทั่วไปมักจะเป็น สิ่งนั้นคืออุปสงค์และอุปทานจากผู้ใช้งาน และมูลค่าของบิตคอยน์มีการรับประกันโดยผู้มีส่วนร่วมในตลาดและประโยชน์จากการใช้งานจริงของมัน

ซึ่งต่างจากสกุลเงิน Fiat (เงินที่กำหนดโดยรัฐบาล) เพราะบิตคอยน์นั้นมั่นใจได้ว่าจะมีอุปทานจำกัด จากโค้ดที่เขียนไว้ในบิตคอยน์เอง ทำให้ในระยะยาวบิตคอยน์จะสามารถรักษามูลค่าและต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อได้ ต่างจากหลายๆสกุลเงินที่ต้องประสบพบเจอกับปัญหาเงินเฟ้อขนาดหนักเข้าไป

.

3.บล็อกเชนไม่ปลอดภัย

บ่อยครั้งที่ความโปร่งใสของบล็อกเชนบิตคอยน์ถูกมองว่าเป็นจุดอ่อนด้านความปลอดภัย แต่อย่างไรก็ตามลักษณะด้านความเป็นสาธารณะของเครือข่ายบิตคอยน์ ได้ใช้วิธีการทำให้เครือข่ายปลอดภัยด้วยการตรวจสอบจากคนหมู่มาก ไม่ว่าจะเป็นนักขุด นักเทรด และนักลงทุนหลายล้านคนที่อยู่บนเครือข่าย

เพื่อที่จะทำให้บล็อกเชนเสียหาย จำเป็นต้องควบคุมกำลังประมวลผลในเครือข่ายอย่างน้อย 51% แต่ด้วยความที่มีนักขุดและโนดที่นำเครื่องขุดหรือคอมพิวเตอร์ของตนหลายล้านเครื่องทั่วโลกมาเข้าร่วมในเครือข่ายบล็อกเชน จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่องค์กรใดๆจะมีกำลังประมวลผลมากพอมาควบคุมเครือข่ายได้ถึงครึ่ง

.

4.บิตคอยน์ไม่ได้รับการยอมรับและสนับสนุนจากรัฐบาล

ในประเทศใหญ่ๆอย่างสหรัฐอเมริกา บุคคลสำคัญของรัฐบาล รวมถึงธนาคารกลาง ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี วุฒิสมาชิก และเจ้าหน้าที่รัฐ ต่างยอมรับบิตคอยน์และสนับสนุนกฎระเบียบอย่างเป็นทางการ ในสหรัฐอเมริกาบิตคอยน์ได้รับการควบคุมทั้งในระดับรัฐและรัฐบาลกลาง หรือแม้แต่ในไทยเองรัฐบาลก็ไม่ได้ปิดกั้นบิตคอยน์ และพยายามออกกฎหมายมารองรับการใช้งานของบิตคอยน์

บริษัทและนักลงทุนรายย่อยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบิตคอยน์จะต้องดำเนินการตรวจสอบสถานะอย่างเข้มงวด ซึ่งเทียบได้กับการตรวจสอบสินทรัพย์การลงทุนแบบปกติ มีข้อกำหนดเช่นเดียวกัน ตลาดแลกเปลี่ยนซื้อขายและโบรกเกอร์บิตคอยน์นั้นก็อยู่ภายใต้กฎระเบียบเดียวกับตลาดแลกเปลี่ยนและโบรกเกอร์ของสินทรัพย์การลงทุนปกติ

.

5.บิตคอยน์เข้าใจยากและมีอุปสรรคในการเข้าถึง

บิตคอยน์อาจเป็นแนวคิดที่ซับซ้อน แต่มีคนมากมายที่พยายามอธิบายว่าทำไมบิตคอยน์ถึงถูกสร้างขึ้นและมีวิธีการทำงานอย่างไรแบบเข้าใจง่ายๆอยู่เต็มอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นคลิปยูทูป บทความ และหนังสือ หรือถ้ายากอ่านจากต้นฉบับก็สามารถอ่านได้ที่ White Paper ที่ Satoshi Nakamoto ผู้สร้างบิตคอยน์เขียนขึ้น เกี่ยวกับจุดประสงค์และวิธีการทำงานของบิตคอยน์ ตั้งแต่ก่อนที่บิตคอยน์จะถูกสร้างในปี 2009

นอกจากนี้การซื้อบิตคอยน์ในปัจจุบันก็ทำได้ง่ายขึ้นมาก และบิตคอยน์ก็สามารถแบ่งขายเป็นส่วนเล็กๆจำนวนมาก ซึ่งเราพอใจจะซื้อแค่ไหนก็ซ์้อแค่นั้น ไม่จำเป็นต้องซื้อเต็ม 1 เหรียญบิตคอยน์

.

6.บิตคอยน์ไม่มีประโยชน์

ยังมีผู้คนจำนวนมากที่คลางแคลงใจในตัวบิตคอยน์ มองว่าบิตคอยน์เป็นเพียงตัวกลางในการแลกเปลี่ยนมูลค่าเท่านั้น แต่บิตคอยน์ยังมีประโยชน์ใช้สอยมากกว่านั้น เรื่องแรก บิตคอยน์คือฐานข้อมูลที่ปลอดภัยมากที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เป็นฐานช้อมูลที่เข้าถึงได้แบบสาธารณะที่มีความปลอดภัยสูงสุดและไม่เปลี่ยนแปลง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเงิน ข้อมูลการแพทย์ ข้อมูลห่วงโซ่อุปทาน และการกุศล

นอกเหนือประโยชน์ในด้านการลงทุนแล้ว บิตคอยน์ยังได้รับการยอมรับว่าเป็นช่องทางการชำระเงินรูปแบบหนึ่ง โดยมีร้านค้าและบริษัทเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ

.

7.บิตคอยน์ไม่สามารถเข้ากันได้กับระบบการเงินปัจจุบัน

บิตคอยน์ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถบูรณาการเข้ากับระบบการเงินปกติได้ ได้รับการอนุมัติให้เป็นสินทรัพย์การลงทุน ตัวอย่างเช่น Bitcoin ETF และมีข้อกำหนดดด้านภาษีและการรายงานที่เกี่ยวข้องบุคคลและองค์กร ปัจจุบันบริษัทหลายแห่งเปิดให้มีการลงทุนในบิตคอยน์ ในบัญชีสำหรับหลังเกษียณ และอนุพันธ์ของบิตคอยน์ก็มีอยู่ในตลาดหุ้น

Reference : River.com