บล็อกเชนมีการรักษาความปลอดภัยผ่านกลไกหลายอย่าง เช่น การเข้ารหัส แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ และการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นโครงสร้างพื้นฐานของคริปโทเคอร์เรนซีส่วนใหญ่ มันเป็นกลไกที่ทำให้คริปโทเคอร์เรนซีนั้นมีความมั่นคงและปลอดภัย

แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าบล็อกเชนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของคริปโทเคอร์เรนซีนั้นปลอดภัย ดังนั้นการทำความเข้าใจแนวคิดและกลไกพื้นฐานที่ทำให้เทคโนโลยีนี้มั่นคงและปลอดภัยจึงเป็นเรื่องสำคัญ

แนวคิดเรื่องความมั่นคงและฉันทมติ

บล็อกเชนมีคุณสมบัติหลายอย่างที่ช่วยในการรักษาความปลอดภัย แต่มีคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดอยู่ 2 อย่าง คือแนวคิดเรื่องฉันทาติ (ความเห็นพ้องของคนส่วนใหญ่) และความมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง ฉันทมติคือความสามารถของโหนดภายในเครือข่ายบล็อกเชนแบบกระจายศูนย์ ในการยืนยันความถูกต้องของธุรกรรมและตัวเครือข่ายบล็อกเชนเอง โดยแต่ละเครือข่ายจะมีอัลกอริทึมของตนเองสำหรับกลไกฉันทามตินี้

ส่วนความมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงคือความสามารถของบล็อกเชนในการป้องกันการแก้ไขธุรกรรมที่ได้รับการยืนยันแล้ว ส่วนใหญ่ธุรกรรมที่เราพูดถึงมักจะหมายถึงบันทึกของการโอนคริปโทเคอร์เรนซี แต่ความจริงแล้วบล็อกเชนก็สามารถบันทึกข้อมูลดิจิทัลรูปแบบอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับคริปโทเคอร์เรนซีได้

การผสมผสานระหว่างฉันทมติและความมั่นคงทำให้เกิดมาตรฐานความปลอดภัยให้กับข้อมูลบนเครือข่ายบล็อกเชน โดยจะมีอัลกอริทึมฉันทมติที่คอยทำหน้าที่ให้เครือข่ายดำเนินไปตามกฎระเบียบและเสียงส่วนใหญ่ในเครือข่าย และความมั่นคงช่วยรับประกันว่าข้อมูลบนบล็อกเชนไม่ได้รับการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลง

การเข้ารหัส

บล็อกเชนอาศัยการเข้ารหัสเพื่อทำให้ข้อมูลมีความปลอดภัย โดยจะมีการเข้ารหัสที่เรียกว่าแฮช (hash) คือกระบวนการทำข้อมูลอินพุตที่มีขนาดเท่าไรก็แล้วแต่ ให้การกลายเป็นแฮช ที่ไม่สามารถย้อนกลับจากแฮชกลายไปเป็นข้อมูลต้นฉบับได้ โดยแฮชจะมีขนาดและความยาวที่คงที่ หมายความว่าข้อมูลต้นฉบับจะมีความยาวเท่าใดก็ตาม เมื่อกลายเป็นแฮชแล้วจะมีความยาวเท่ากันเสมอ หากข้อมูลต้นฉบับถูกเปลี่ยนแปลงแม้แต่ตัวเดียว แฮชจะเปลี่ยนจากเดิมไปโดยสิ้นเชิง หากข้อมูลต้นฉบับไม่ได้เปลี่ยนแปลง แฮชจะเหมือนเดิม ไม่ว่าจะทำการแฮชกี่ครั้งก็ตาม

ภายในบล็อกเชน ข้อมูลขาออกจะเป็นแฮช แฮชจะถูกใช้เป็นข้อมูลสำหรับระบุตัวตนของบล็อกข้อมูล แฮชของแต่ละบล็อกถูกสร้างขึ้นโดยสัมพันธ์กับแฮชของบล็อกก่อนหน้า เปรียบเสมือนสายโซ่ระหว่างบล็อกเชนที่เชื่อมโยงกัน ยกตัวอย่างเช่น แฮชของแต่ละบล็อกเกิดจากข้อมูลของบล็อกๆนั้น และในแต่ละบล็อกก็มีแฮชของบล็อกก่อนหน้าอยู่ด้วย หมายความว่าถ้าข้อมูลในบล็อกก่อนๆถูกเปลี่ยนแปลง แฮชในบล็อกหลังก็จะเปลี่ยนไปด้วย แฮชเหล่านี้จึงมีบทบาทสำคัญในการรับรองความปลอดภัยและรับประกันว่าข้อมูลไม่ได้เปลี่ยนแปลง

โดยแต่ละอัลกอริทึมที่ใช้ในการตรวจสอบความถูกต้องก็จะมีการใช้แฮชที่แตกต่างกันไป เช่น Bitcoin จะใช้ฟังก์ชันแฮชที่เรียกว่า SHA-256 ที่จะแปลงข้อมูลต้นฉบับให้อยู่ในขนาด 256 บิต หรือ 64 ตัวอักษร

นอกจากการเข้ารหัสจะช่วยปกป้องข้อมูลบนบล็อกเชนแล้ว มันยังช่วยทำให้กระเป๋าคริปโทเคอร์เรนซี (cryptocurrency wallet) ปลอดภัยอีกด้วย โดยวอลเลทจะประกอบด้วย public key และ private key ที่ใช้งานคู่กัน โดย public key หรือกุญแจสาธารณะจะเป็นที่อยู่สำหรับการรับหรือส่งคริปโทเคอร์เรนซี ส่วน private key หรือกุญแจส่วนตัวจะทำหน้าที่เป็นลายเซ็นดิจิทัลสำหรับการแสดงความเป็นเจ้าของวอลเลทที่เรามี (คนที่ไม่มี private key จะไม่สามารถเข้าถึงเงินในวอลเลทได้)

กลไกทางเศรษฐศาสตร์

นอกเหนือจากการเข้ารหัสแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่บทบาทสำคัญคือกลไกทางเศรษฐศาสตร์ของคริปโทเคอร์เรนซีหรือ Cryptoeconomics ที่ช่วยรักษาความปลอดภัยของเครือข่ายบล็อกเชน โดย Cryptoeconomics เป็นเรื่องของการสร้างแรงจูงใจให้กับผู้เข้าร่วมบนเครือข่ายเลือกที่จะซื่อสัตย์มากกว่าการคดโกง ซึ่งมักจะออกแบบแรงจูงใจตามพฤติกรรมของผู้คน โดยกระบวนการขุดบิตคอยน์ก็เป็นหนึ่งตัวอย่างในการสร้างแรงจูงใจที่ดี

ตอนที่ผู้สร้างบิตคอยน์ Satoshi Nakamoto สร้างกระบวนการขุดบิตคอยน์มา เขาได้ตั้งใจออกแบบมาให้กระบวนการขุดเป็นขั้นตอนที่มีค่าใช้จ่ายสูงและต้องใช้ทรัพยากรมาก เนื่องจากคอมพิวเตอร์ต้องประมวลผลสมการทางคณิตศาสตร์ที่มีความซับซ้อน กระบวนการขุดบิตคอยน์จึงต้องใช้เงินลงทุนและอุปกรณ์ในการขุดที่ทรงพลังมาก โดยไม่ว่านักขุดคนนั้นจะเป็นใครหรืออยู่ที่ใด ก็ต้องออกเงินออกแรงเหมือนกัน ไม่มีวิธีลัดในการขุด ด้วยโครงสร้างนี้จึงลดแรงจูงใจของผู้ที่ไม่หวังดี แต่เพิ่มแรงจูงให้กับผู้เข้าร่วมที่ดำเนินการอย่างซื่อสัตย์

และการมอบผลตอบแทนให้กับนักขุดยังช่วยดึงดูดให้นักขุดมาเข้าร่วมโดยการนำเครื่องขุดมาเชื่อมต่อกับเครือข่ายมากขึ้น เมื่อเครื่องขุดในเครือข่ายมากขึ้น กำลังขุดหรือ hashrate รวมในเครือข่ายก็จะเพิ่มมากขึ้น และเมื่อเครือข่ายมี hashrate สูงมากๆ การจะโจมตีเครือข่ายด้วยวิธี 51% ก็จะยากมากจนแถบเป็นไปไม่ได้ ลองนึกถึงเครื่องขุดทั่วโลกที่กำลังใช้กำลังขุดของตนในการขุดบิตคอยน์อยู่ การที่จะโจมตีเครือข่ายด้วยวิธี 51% ได้ ผู้โจมตีจะต้องมีกำลังประมวลผลมากกว่าครึ่งหนึ่งของเครื่องขุดทั่วโลกที่กำลังทำงานอยู่ ซึ่งจะต้องใช้เงินทุนและทรัพยากรจำนวนมาก และผลที่ได้ก็อาจจะไม่คุ้มกับที่ทำลงไป เพราะเมื่อบิตคอยน์ถูกโจมตีได้เพียง 1 ครั้ง มันจะไม่มูลค่าอีกเลย

กลับกันหากเครือข่ายสมมติเครือข่ายหนึ่งมีเครื่องขุดอยู่ในเครือข่ายเพียง 100 เครื่อง ผู้โจมตีเพียงแค่ต้องหาคอมพิวเตอร์หรือเครื่องขุดที่มีกำลังประมวลผลให้มากกว่า 50 เครื่องที่กำลังขุดอยู่ การโจมตีก็จะสำเร็จ ดังนั้นการที่เครือข่ายบิตคอยน์มีนักขุดสนใจเข้ามาขุดจำนวนมากจึงเป็นเรื่องดี เพราะจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับเครือข่ายไปด้วย และตัวนักขุดก็ได้รับผลตอบแทนของตน

Reference : Binance Academy