ค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งของโลกคริปโทเคอร์เรนซี เรามักจะต้องเจอกับสิ่งนี้เวลาที่โอน ฝาก หรือถอนคริปโทเคอร์เรนซี และค่าธรรมเนียมก็เป็นรายได้สำหรับนักขุดบิตคอยน์อีกด้วย

คริปโทเคอร์เรนซีส่วนใหญ่ต้องมีค่าธรรมเนียมด้วยเหตุผลสำคัญสองข้อ ข้อแรกคือการคิดค่าธรรมเนียมจะช่วยลดปริมาณการสแปมบนเครือข่าย (ทำธุรกรรมจำนวนมากเพื่อปั่นป่วนเครือข่าย) เพราะทำให้การก่อกวนด้วยการสแปมมีต้นทุนที่สูง ข้อที่สอง ค่าธรรมเนียมทำหน้าที่เป็นสิ่งจูงใจให้กับผู้ที่ต้องการมาเป็นผู้ตรวจสอบและยืนยันธุรกรรม โดยให้ค่าธรรมเนียมกับคนเหล่านี้ในการช่วยเหลือเครือข่ายบล็อกเชน

สำหรับบล็อกเชนส่วนใหญ่ ค่าธรรมเนียมมีราคาที่ไม่สูงมาก แต่จะสูงขึ้นเมื่อมีคนใช้งานเครือข่ายเป็นปริมาณมาก สำหรับผู้ใช้งานเครือข่าย จำนวนเงินที่เราเลือกจ่ายไปเป็นค่าธรรมเนียมจะส่งผลต่อลำดับในการทำธุรกรรมของเรา ยิ่งจ่ายค่าธรรมเนียมสูง กระบวนการยืนยันธุรกรรมก็จะเร็วขึ้นเท่านั้น

ค่าธรรมเนียมของ Bitcoin

ในฐานะเครือข่ายบล็อกเชนแรกของโลก Bitcoin ได้สร้างมาตรฐานสำหรับคริปโทเคอร์เรนซีรุ่นหลังๆในการเก็บค่าธรรมเนียม Satoshi Nakamoto ผู้สร้างบิตคอยน์ได้คิดไว้แล้วว่าการเก็บค่าธรรมเนียมจะช่วยปกป้องเครือข่ายจากการก่อกวนด้วยการสแปม และช่วยดึงดูดเหล่านักขุด

นักขุดบิตคอยน์จะได้รับค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมเป็นค่าตอบแทนสำหรับการยืนยันธุรกรรมในบล็อกเชน โดยจะมีกลุ่มของธุรกรรมที่ยังไม่ได้ยืนยันที่เรียกว่า Memory pool หรือ Mempool ซึ่งปกตินักขุดบิตคอยน์จะเรียงลำดับความสำคัญของธุรกรรมที่จ่ายค่าธรรมเนียมสูงที่สุดก่อน โดยที่ผู้โอนจะต้องจ่ายเมื่อโอน BTC ไปยังกระเป๋าบิตคอยน์อื่น

สำหรับผู้ที่ต้องการก่อกวนด้วยการสแปม ก็จะต้องจ่ายธรรมเนียมในการสแปมแต่ละครั้ง หากจ่ายค่าธรรมเนียมต่ำเกินไป นักขุดมักจะไม่สนใจธุรกรรมเหล่านี้ แต่หากจ่ายธรรมเนียมสูงขึ้นเพื่อให้การสแปมสำเร็จ ก็จะมีค่าใช้จ่ายในการก่อกวนที่สูง จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการเก็บค่าธรรมเนียมจึงทำหน้าที่เป็นตัวกรองการสแปมที่เรียบง่ายแต่มีประสิทธิภาพ

ค่าธรรมเนียม Bitcoin คิดอย่างไร

บนเครือข่ายบิตคอยน์ กระเป๋าเงินดิจิทัลเข้ารหัสบางอันจะอนุญาตให้ผู้ใช้งานสามารถกำหนดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมด้วยตนเอง ซึ่งจริงๆแล้วเราจะไม่จ่ายค่าธรรมเนียมก็ได้ แค่ธุรกรรมนั้นจะไม่ได้รับการยืนยันเท่านั้นเอง

ซึ่งค่าธรรมเนียมของบิตคอยน์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวน BTC ที่ส่ง แต่ขึ้นอยู่กับขนาดของธุรกรรม (หน่วยไบต์) ตัวอย่างเช่น ธุรกรรมของเรามีขนาด 400 ไบต์ และค่าธรรมเนียมเฉลี่ยในปัจจุบันอยู่ที่ 80 satoshi ต่อไบต์ เราจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมประมาณ 32,000 satoshi (0.00032 BTC) เพื่อที่จะมีโอกาสได้รับการยืนยันธุรกรรมในบล็อกถัดไป

ถ้าเครือข่ายมีคนต้องการทำธุรกรรมจำนวนมาก ค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายขั้นต่ำเพื่อทำธุรกรรมอย่างรวดเร็วก็จะเพิ่มขึ้น เพราะว่าคนอื่นๆก็ทำแบบเดียวกับเรา ซึ่งอาจเกิดขึ้นในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนอย่างรุนแรง (ลองนึกถึงการประมูล ใครจ่ายเยอะกว่าก็จะได้ทำธุรกรรมไปก่อน) ด้วยเหตุผลนี้เองทำให้บิตคอยน์ไม่เหมาะสมกับการใช้แบบทั่วไป เช่น ต้องการซื้อชานมแก้วละ 60 แต่ค่าธรรมเนียมจะสูงกว่านั้นมาก

ซึ่งภายใน 10 นาที ( 1 บล็อก) จะจำกัดจำนวนธุรกรรมได้จำนวนหนึ่งเท่านั้น โดยจำกัดอยู่ที่ 1MB (ขนาดบล็อก) ทำให้ระยะเวลาในการรอยืนยันธุรกรรมก็จะยาวออกไป ด้วยเหตุนี้ความสามารถในการรองรับธุรกรรมจำนวนมากจึงเป็นโจทย์สำคัญของบิตคอยน์ ที่มีนักพัฒนาบล็อกเชนพยายามแก้กันอย่างสุดความสามารถ โดยได้มีหนทางแก้อย่าง SegWit และ Lightning Network ที่เข้ามาช่วยให้การทำธุรกรรมบนเครือข่ายบิตคอยน์เร็วขึ้นและค่าธรรมเนียมถูกลง

ค่าธรรมเนียมของ Ethereum

ค่าธรรมเนียมของ Ethereum นั้นทำงานแตกต่างจาก Bitcoin ค่าธรรมจะคิดจากปริมาณกำลังประมวลผลที่ต้องใช้สำหรับการประมวลผลธุรกรรม ที่เรียกว่า Gas โดยค่า Gas จะต้องจ่ายด้วย ETH ซึ่งเป็นหน่วยเงินของเครือข่าย Ethereum โดยที่ค่า Gas สามารถขึ้นและลงได้ขึ้นอยู่กับปริมาณธุรกรรมในเครือข่าย หากเราจ่ายค่า Gas สูงขึ้น ก็จะสามารถทำธุรกรรมได้ก่อน

ค่าธรรมเนียมของ BNB

ค่าธรรมเนียมของ BNB จะคล้ายๆกับ Ethereum แต่ค่าธรรมเนียมจะมีชื่อเรียกว่า Gwei โดยมีรูปแบบการจ่ายค่าธรรมเนียมที่คล้ายกันคือ ผู้ใช้งานสามารถกำหนดค่าธรรมเนียมของตนเองเพื่อเพิ่มความสำคัญของธุรกรรมที่ต้องการทำ เมื่อกำหนดค่าธรรมเนียมสูงๆธุรกรรมที่ทำก็มีโอกาสที่จะได้รับการยืนยันก่อน ส่วนที่แตกต่างกับ Ethereum ก็คือค่าธรรมเนียมของ BNB จะมีราคาที่ต่ำกว่า

ซึ่งทั้ง Ethereum และ BNB ต่างก็เป็นแพลตฟอร์มให้กับระบบนิเวศของคริปโทเคอร์เรนซี ไม่ว่าจะเป็น DeFi Smart Contract หรือ GameFi ซึ่งในระบบนิเวศเหล่านี้ ค่าผ่านทางหรือค่าธรรมเนียมคือสิ่งที่สร้างรายได้ให้กับเหล่าผู้พัฒนาที่มาสร้างโปรเจกต์ต่างๆลงบน Ethereum และ BNB

Reference : Binance Academy