แม้ว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนมักจะถูกใช้กับบิตคอยน์และคริปโทเคอร์เรนซีอื่นๆ แต่ก็มีความพยายามที่จะนำเทคโนโลยีบล็อกเชนไปปรับใช้กับด้านอื่นๆ เช่น องค์กรการกุศล ซัพพลายเชน และการดูแลสุขภาพ (Healthcare)

 

ประโยชน์ของการใช้บล็อกเชนกับ Healthcare

คุณสมบัติบางข้อของบล็อกเชน เช่น การบันทึกข้อมูลอย่างปลอดภัย สามารถนำไปปรับใช้กับการจัดเก็บข้อมูลทางการแพทย์ได้ เนื่องจากบล็อกเชนส่วนใหญ่ได้รับการออกแบบให้เป็นระบบแบบกระจายศูนย์ที่บันทึกและปกป้องข้อมูลผ่านการเข้ารหัส จึงทำให้มันสามารถป้องกันการโจมตีและเปลี่ยนแปลงข้อมูลจากคนที่ไม่หวังดีได้ ซึ่งสามารถมาปรับใช้กับการบันทึกข้อมูลทางการแพทย์ได้

นอกจากนี้โครงสร้างของบล็อกเชนแบบ peer-to-peer ยังช่วยให้ข้อมูลของผู้ป่วยที่กระจายกันอยู่คนละโรงพยาบาลถูกอัพเดทพร้อมกัน เมื่อมีที่ใดที่หนึ่งอัพเดทข้อมูลเข้ามา มันช่วยให้ข้อมูลทั้งหมดถูกซิงโครไนซ์ไม่ว่าข้อมูลจะอยู่ที่ใด ทำให้ข้อมูลทางการแพทย์นั้นทันสมัยและเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ ไม่ว่าเราจะไปใช้บริการทางการแพทย์ที่ใด ที่นั้นก็จะมีข้อมูลปัจจุบันของเราอยู่ โดยบล็อกเชนที่จะใช้กับข้อมูลทางการแพทย์จะเป็นบล็อกเชนส่วนตัว ที่สามารถเลือกอนุญาตผู้เข้าร่วม และมีอำนาจควบคุมมากกว่า ต่างจากบล็อกเชนสาธารณะที่ใครจะเข้าร่วมก็ได้และอำนาจควบคุมเป็นของทุกคนในเครือข่าย เพราะว่าระบบข้อมูลการรักษาไม่จำเป็นต้องให้ทุกคนเข้าร่วม แค่โรงพยาบาลในเครือข่ายก็พอแล้ว

 

ข้อดีของการใช้ Blockchain กับ Healthcare

เพิ่มความปลอดภัย

การสร้างฐานข้อมูลด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนทำให้ข้อมูลการดูแลสุขภาพมีความปลอดภัยและเชื่อมโยงกัน เนื่องจากบล็อกเชนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ จึงไม่ต้องกังวลเรื่องการปลอมแปลงข้อมูลอีกต่อไป สามารถใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการลงทะเบียนคนไข้และติดตามข้อมูลทางการแพทย์ของคนไข้จำนวนมากได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งมีความต่างจากระบบฐานข้อมูลแบบดั้งเดิม ที่อาศัยการเก็บข้อมูลในเซิร์ฟเวอร์ส่วนกลาง การเก็บข้อมูลของบล็อกเชนช่วยให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลด้วยความปลอดภัยที่สูงกว่าเดิม ในขณะเดียวกันก็ลดต้นทุนการบริหารจัดการได้อีกด้วย ลักษณะการกระจายศูนย์ของบล็อกเชนยังทำให้ฐานข้อมูลมีความเสี่ยงต่อความผิดพลาดทางเทคนิคและการโจมตีจากภายนอกที่มักทำให้ข้อมูลอันมีค่าเสียหาย เพราะข้อมูลทางการแพทย์มักถูกพวกแฮกเกอร์เจาะหรือใช้ ransomware ในการเรียกค่าไถ่แลกกับข้อมูล

การทำงานประสานกัน

ข้อดีอีกอย่างของการบันทึกข้อมูลทางการแพทย์ลงบนบล็อกเชนคือการส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างคลินิก โรงพยาบาล และผู้ให้บริการด้านสุขภาพอื่นๆ ความแตกต่างทางเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลของแต่ละองค์กร มักทำให้องค์กรต่างๆแบ่งปันข้อมูลกันได้ยาก ซึ่งบล็อกเชนสามารถแก้ปัญหานี้ได้โดยการอนุญาตให้บุคคลที่มีสิทธิ สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลของคนไข้ได้ เช่น ประวัติการรักษา บันทึกการจ่ายยา

ความโปร่งใส

นอกเหนือจากการทำให้การแบ่งปันข้อมูลง่ายขึ้นแล้ว บล็อกเชนยังช่วยให้คนไข้สามารถรับรู้และเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์ของตนเองได้มากขึ้นอีกด้วย

การจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ไว้ใจได้

บล็อกเชนทำให้ผู้คนสามารถติดตามเภสัชภัณฑ์ตั้งแต่กระบวนการผลิตทุกขั้นตอน การขนส่ง จนมาถึงมือของเรา ซึ่งช่วยลดปัญหาการปลอมแปลงยาและอุปกรณ์ทางแพทย์ที่มักเกิดขึ้นบ่อยๆได้ ทำให้ผู้คนมั่นใจได้ว่าเภสัชภัณฑ์ที่ตนใช้งานนั้นได้มาตรฐานและไม่เป็นอันตราย

 

ข้อจำกัดของการใช้ Blockchain กับ Healthcare

แม้ว่าการนำบล็อกเชนมาใช้กับ healthcare จะมีข้อดีหลายอย่างสำหรับผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ แต่มันก็ยังคงมีข้อจำกัดบางอย่างที่ต้องก้าวข้ามไปให้ได้ ก่อนที่วิธีนี้จะได้การยอมรับในวงกว้างและแพร่หลายในธุรกิจการดูแลสุขภาพในที่สุด

ข้อบังคับ

ยกตัวอย่างในประเทศอเมริกา องค์กรด้านการดูแลสุขภาพที่สนใจนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านข้อมูลที่มีอยู่ เช่น Health Insurance Portability and Accountability Act (HIPAA) ปี 1996 โดยพื้นฐานแล้ว HIPAA จะร่างมาตรฐานสำหรับการจัดเก็บ การแบ่งปัน และป้องกันข้อมูล ในกลุ่มธุรกิจการดูแลสุขภาพ เพื่อที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างครบถ้วน บริษัทในสหัฐฯ จะต้องปรับใช้บล็อกเชนให้มีฟีเจอร์ความเป็นส่วนตัวและจำกัดการเข้าถึงที่มากขึ้น

ต้นทุนตอนเริ่มต้นและความเร็ว

ในด้านของผู้ให้บริการ การนำบล็อกเชนมาปรับใช้จะมีต้นทุนเริ่มต้นที่ค่อนข้างสูง ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดของบล็อกเชนสู่การยอมรับในวงกว้าง และ ระบบแบบกระจายศูนย์อย่างบล็อกเชนมีแนวโน้มที่จะช้ากว่าระบบแบบรวมศูนย์อย่างมาก ในแง่ของการบันทึกข้อมูลต่อวินาที เครือข่ายบล็อกเชนที่มีขนาดใหญ่ที่มีโหนดจำนวนมาก อาจต้องใช้เวลามากขึ้นในการส่งข้อมูลและซิงโครไนซ์ข้อมูลเมื่อเปรียบเทียบกับระบบแบบรวมศูนย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ที่จะต้องจัดเก็บและติดตามข้อมูลของคนไข้จำนวนมาก

Referrence : Binance Academy