Time value of money (TVM) – มูลค่าเงินตามเวลา เป็นแนวคิดทางการเงินที่บอกไว้ว่าเราควรรับเงินจำนวนหนึ่งในเวลาปัจจุบัน ดีกว่ารับเงินจำนวนที่เท่ากันในอนาคต ซึ่งเหตุผลเป็นเพราะต้นทุนค่าเสียโอกาส การเลือกรับเงินในปัจจุบันทำให้เราสามารถนำเงินไปลงทุนหรือนำเงินไปต่อยอดทำให้เงินเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้มีมูลค่าเงินมากกว่าการเลือกรับเงินจำนวนเท่ากันในอนาคต ที่จะพลาดโอกาสในการนำเงินไปลงทุนต่อยอด ซึ่งเรียกว่า “ต้นทุนค่าเสียโอกาส”

ตัวอย่างเช่น มีคนจะให้เงินเรา 10,000 บาท โดยให้เลือกว่าจะรับวันนี้หรืออีก 1 ปีข้างหน้า แน่นอนว่าเราก็ต้องรับวันนี้ แต่เพราะอะไรล่ะ? เพราะว่าเราสามารถนำเงินที่เราได้รับวันนี้ไปฝากเพื่อรับดอกเบี้ย หรือนำไปลงทุนอย่างชาญฉลาดและทำกำไรได้ และยังมีเรื่องของอัตราเงินเฟ้อ ที่เงิน 10,000 บาท ในอีก 1 ปีข้างหน้าจะมีมูลค่าน้อยกว่า 10,000 บาทในปัจจุบัน

คำถามคือเราจะต้องได้รับเงินจำนวนเท่าใด เราถึงจะไม่เลือกรับเงิน 10,000 บาท ในวันนี้แต่เลือกรับในอีก 1 ปีข้างหน้า วิธีคิดคือ อย่างน้อยเราต้องได้รับเงินในอีก 1 ปีข้างหน้า มากกว่าความเป็นไปได้ที่เราจะนำเงิน 10,000 บาทไปสร้างรายได้ภายในระยะเวลา 1 ปี

มูลค่าปัจจุบันและมูลค่าในอนาคตคืออะไร

มูลค่าปัจจุบัน (Present Value – PV) และมูลค่าในอนาคต (Future Value – FV) เป็นแนวคิดพื้นฐานในการเงินที่ใช้ในการประเมินมูลค่าของเงินในช่วงเวลาที่ต่างกัน แนวคิดเหล่านี้มักถูกนำมาใช้ในการคำนวณทางการเงินต่าง ๆ เช่น การวิเคราะห์การลงทุน การกำหนดราคาสินเชื่อ และการวางแผนเงินหลังเกษียณ

มูลค่าปัจจุบัน

คือค่าที่แสดงมูลปัจจุบันของผลรวมของเงินในอนาคต เป็นการคำนวณว่าเงินในอนาคตมีมูลค่าเท่าใดในปัจจุบัน โดยใช้อัตราดอกเบี้ยหรืออัตราคิดลด (discount rate) มาคิด เช่น เงินที่จะได้ในอีก 1 ปีข้างหน้า 10,000 บาท จะมีมูลค่าเท่าใดในปัจจุบัน

มูลค่าในอนาคต

จะตรงกันข้ามกับมูลค่าปัจจุบัน จะเป็นการคำนวณว่ามูลค่าเงินในปัจจุบันจะมีมูลค่าเท่าใดในอนาคตด้วยการใช้อัตราดอกเบี้ยมาคิด เช่น เงิน 10,000 บาทในวันนี้จะมีมูลค่าเท่าใดในอนาคตเมื่อรวมกับผลตอบแทนที่จะได้จากดอกเบี้ย

การคำนวณมูลค่าในอนาคต

สูตรคำนวณ

FV = PV * (1 + r)^n

โดยที่

FV = มูลค่าในอนาคต

PV = มูลค่าปัจจุบัน

r = อัตราดอกเบี้ย

n = จำนวนรอบเวลา

สมมติว่าเราสามารถนำเงินไปฝากประจำเป็นเวลา 1 ปี แล้วได้รับดอกเบี้ย 2% มูลค่าในอนาคตอีก 1 ปีข้างหน้าของเงิน 10,000 บาท คือ

FV = 10,000 * 1.02 = 10,200

แต่ถ้าเรานำเงินไปฝากประจำเป็นเวลา 2 ปีด้วยอัตราดอกเบี้ยเท่าเดิม มูลค่าของเงิน 10,000 บาท ในอีก 2 ปี คือ

FV = 10,000 * 1.02^2 = 10,404

แล้วเราจะรู้มูลค่าในอนาคตไปเพื่ออะไรกัน? มันช่วยเราในการวางแผนการลงทุน และทำให้รู้ว่าการลงทุนของเราจะมีมูลค่าเท่าไรในอนาคต และทำให้สามารถตอบคำถามก่อนหน้านี้ที่ว่าเราจะต้องได้รับเงินจำนวนเท่าใด เราถึงจะไม่เลือกรับเงิน 10,000 บาท ในวันนี้แต่เลือกรับในอีก 1 ปีข้างหน้า

การคำนวณมูลค่าปัจจุบัน

สูตรคำนวณ

PV = FV / (1 + r)^n

โดยที่

PV = มูลค่าปัจจุบัน

FV = มูลค่าในอนาคต (จำนวนเงินที่จะได้รับในอนาคต)

r = อัตราคิดลดหรืออัตราดอกเบี้ย (discount rate)

n = จำนวนรอบเวลา

สมมติว่ามีคนบอกว่าจะให้เงินคุณ 10,300 บาท แทนที่จะเป็น 10,000 บาทเท่าเดิม ซึ่งเราสามารถคำนวณได้ว่าทางไหนสมเหตุสมผลมากกว่ากัน โดยใช้การคำนวณ PV (สมมติว่าอัตราดอกเบี้ย 2% เท่าเดิม)

PV = 10,300 / 1.02 = 10,098

แปลว่าถ้าเรารอ 1 ปีแล้วรับเงิน 10,300 บาท จะมีมูลค่าปัจจุบันมากกว่าการรับเงินในวันนี้ 98 บาท อาจจะดูไม่ได้เยอะ แต่ถ้าเป็นเงินจำนวนเยอะมากๆการเลือกรอ 1 ปี จะเป็นช้อยส์ที่ดีกว่า

มูลค่าเงินตามเวลานำไปใช้กับ Cryptocurrency ได้อย่างไร

มีหลายครั้งในโลกของคริปโทเคอร์เรนซี ที่เราสามารถเลือกระหว่างเลือกเก็บเงินในปัจจุบันไว้หรือจะเอาไปสร้างผลตอบที่มากขึ้นในอนาคต ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่ง คือ การล็อคเหรียญ staking เราอาจจะต้องเลือกเก็บ 1 ETH ที่มีอยู่ตอนนี้ หรือจะนำไป staking แล้วรอปลดล็อคในอีก 1 ปีข้างหน้าด้วยอัตราดอกเบี้ย 2% ซึ่งจริงๆแล้วเราสามารถนำ 1 ETH ไปทำอย่างอื่นที่ได้ผลตอบแทนมากกว่า 2% ก็ได้ การคำนวณ TVM จึงช่วยเราคัดเลือกวิธีที่จะสร้างผลตอบแทนในอนาคตให้มากที่สุดได้

Reference : Binance Academy