แนวคิดของบล็อกเชนเกิดขึ้นมาครั้งแรกในปี 1991 และได้ถูกนำมาใช้ในบิตคอยน์ตั้งแต่ปี 2009 จนทำให้เทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นที่สนใจมากขึ้น บิตคอยน์นั้นถูกสร้างขึ้นโดยบุคคลหรือกลุ่มคนที่ใช้นามแฝงว่า Satoshi Nakamoto เราไม่รู้ว่านายคนนี้เป็นใคร แต่ว่านวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่เขาสร้างขึ้นได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อโลกการเงิน

บล็อกเชนส่วนใหญ่ทำหน้าที่เป็นสมุดบัญชีแบบกระจายศูนย์ ที่บันทึกและปกป้องข้อมูลดิจิทัลด้วยการใช้การเข้ารหัส (Cryptography) ซึ่งส่วนใหญ่จะนำไปใช้กับคริปโทเคอร์เรนซี แต่ด้วยลักษณะของการกระจายศูนย์และการรักษาความปลอดภัยยังทำให้บล็อกเชนเป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆอีกมาก

เมื่อโลกของคริปโทเคอร์เรนซีใหญ่ขึ้น บล็อกเชนก็ได้รับการปรับปรุงต่อยอดไปใช้งานในด้านอื่น เวลาใช้บล็อกเชนเราไม่จำเป็นต้องไว้ใจใคร แค่ต้องเชื่อมั่นว่าระบบนั้นไว้ใจได้ รวมถึงบล็อกเชนยังมีความโปร่งใส ที่ทุกคนสามารถตรวจสอบได้ จุดเด่นเหล่านี้สามารถนำไปใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพและความปลอดภัยให้กับอุตสาหกรรมและองค์กรต่างๆ เช่น องค์กรการกุศล ห่วงโซ่อุปทาน การดูแลสุขภาพ

องค์กรการกุศล

องค์กรการกุศลหลายแห่งทั่วโลกมุ่งมั่นที่จะจัดการกับความท้าทายด้านการจัดการทรัพยากร ความโปร่งใสในการปฎิบัติงาน และการสั่งงานที่มีประสิทธิผล เทคโนโลยีบล็อกเชนสามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้องค์กรเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกระบวนการรับและจัดการเงินทุนได้

ซึ่งเรามีตัวอย่างที่โดดเด่นของการใช้งานบล็อกเชนกับองค์กรการกุศลแล้ว ตัวอย่างเช่น มูลนิธิ Blockchain Charity Foundation (BCF) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร ที่ทำงานเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการต่อสู่กับความยากจนและความไม่เท่าเทียม มีเป้าหมายเพื่อให้ทั่วโลกเกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกันโดยมีบล็อกเชนขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลัง

ห่วงโซ่อุปทาน (supply chain)

เครือข่ายห่วงโซ่อุปทานหลายแห่งกำลังเผชิญกับอุปสรรคในเรื่องความโปร่งใสและประสิทธิภาพ ระบบการจัดการในปัจจุบันยังขึ้นอยู่กับความไว้วางใจ และยังขาดการร่วมมือที่เหมาะสมระหว่างบริษัทกับฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเทคโนโลยีบล็อกเชนสามารถใช้เพื่อติดตามกระบวนการทั้งหมดในห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตจนถึงการขนส่ง ฐานข้อมูลแบบกระจายอาจเหมาะสมมากสำหรับการบันทึกข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างปลอดภัย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์มีความถูกต้อง รวมถึงความโปร่งใสในการชำระเงินและการขนส่ง

การดูแลสุขภาพ

ปัญหาคอขวด ข้อมูลผิดพลาด และความล่าช้าของระบบราชการเป็นปัญหาสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมสุขภาพ บล็อกเชนสามารถใช้งานร่วมกับธุรกิจการดูแลสุขภาพ เช่นการติดตามยาภายในห่วงโซ่อุปทานและการจัดการข้อมูลผู้ป่วย

รวมถึงบล็อกเชนยังสามารถสร้างประโยชน์ด้านความปลอดภัยให้กับโรงพยาบาล เนื่องจากสถานที่แบบนี้มักถูกโจมตีโดยแฮกเกอร์ เพราะข้อมูลที่เก็บไว้มีมูลค่าสูงและสำคัญ

และมีหลายบริษัทที่กำลังค้นหาวิธีนำบล็อกเนมาจัดเก็บข้อมูลสุขภาพในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งวิธีนี้สามารถลดค่าใช้จ่ายโดยรวม ในขณะเดียวกันก็เพิ่มความเป็นส่วนตัวและความแม่นยำของข้อมูลด้วย

ค่าลิขสิทธิ์

นักดนตรี ผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ และศิลปินทั่วไปมักจะต้องต่อสู้กับการเก็บค่าลิขสิทธิ์จากพวกก็อปผลงาน การกดราคาจากบุคคลที่สาม และการเบี้ยวค่าลิขสิทธิ์ ซึ่งเทคโนโลยีบล็อกเชนสามารถนำไปใช้สร้างแพลตฟอร์มที่ทำให้ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์มีบันทึกความเป็นเจ้าของผลงานที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงและโปร่งใส สามารถดูได้ว่าใครเป็นผู้เช่า ซื้อ หรือใช้ผลงานของตน แพลตฟอร์มนี้ยังสามารถทำให้การชำระเงินเป็นเรื่องที่ง่ายดาย ผ่าน smart contract

รัฐ

เทคโนโลยีบล็อกเชนมีความสามารถในการปรับปรุงการใช้อำนาจของรัฐได้ในหลายภาคส่วน โดยการจัดการและดำเนินงานเครือข่ายในลักษณะที่เป็นประชาธิปไตย ยุติธรรม และปลอดภัยยิ่งขึ้น บล็อกสามารถนำไปสร้างระบบที่ป้องกันการทุจริต ระบบที่สามารถตรวจกลับย้อนหลัง เช่นนำไปใช้กับการเก็บภาษีและการแจกเงินของรัฐ รวมถึงสามารถนำบล็อกเชนไปสร้างระบบการลงคะแนนที่ปลอดการโกง ไม่จำเป็นต้องไว้ใจเจ้าหน้าที่นับคะแนน

การเงิน

การโอนเงินระหว่างประเทศผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นวิธีที่ถูกพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพสูง การส่งคริปโทเคอร์เรนซีให้กับเพื่อน ญาติ และคนอื่นๆนอกประเทศนั้นมีต้นทุนต่ำและรวดเร็วกว่าเมื่อเทียบกับการโอนผ่านธนาคาร

Internet of Things (IoT)

เทคโนโลยีบล็อกเชนและ IoT เป็นของคู่กัน บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีการกระจายศูนย์และ IoT มักจะใช้สำหรับรวบรวมข้อมูลจากหลายๆแหล่ง ซึ่งบล็อกเชนช่วยให้องค์กรต่างๆสามารถเก็บบันทึกข้อมูลจากอุปกรณ์ IoT ที่ไม่สามารถปลอมแปลงและโปร่งใส

Reference : Binance Academy