ฟองสบู่ดอกทิวลิป

Tulip Mania ถือเป็นภาวะฟองสบู่ทางการเงินครั้งแรกที่ถูกบันทึกไว้ ซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดในช่วงปี ค.ศ. 1600 เหตุการณ์ Tulip Mania เกิดขึ้นในประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งในตอนนั้นถือว่าเป็นยุคทองของเนเธอร์แลนด์ เป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในช่วงเวลาเดียว เป็นผลมาจากการทำการค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นและการค้าขายที่เปิดกว้าง

การเติบโตทางเศรษฐกิจช่วยให้ประชาชนจำนวนมากมีความมั่งคั่งและเจริญรุ่งเรือง การที่ประชาชนมีเงินเหลือกินเหลือใช้ทำให้ตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยขยายตัวขึ้น ซึ่งหนึ่งในสินค้าฟุ่มเฟือยที่สุดก็คือดอกทิวลิป โดยเฉพาะดอกทิวลิปที่กลายพันธุ์ ที่มีความสวยงามยิ่งกว่าดอกไม้ทั่วไป ดอกทิวลิปที่กลายพันธุ์นี้มีความโดดเด่นกว่าดอกไม้อื่นมาก ดังนั้นผู้คนจึงอยากครอบครองดอกทิวลิปประเภทนี้ เพราะมีสีและลวดลายที่แปลกตา

ในช่วงเวลานั้น ราคาของดอกทิวลิปดอกเดียวอาจสูงกว่ารายได้ของแรงงานที่มีฝีมือหรือแม้แต่ราคาบ้านหนึ่งหลัง การสร้างสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทำให้ราคาของดอกทิวลิปสูงขึ้นไปอีก แต่เมื่อเกษตรกรปลูกดอกทิวลิปมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้อุปทานดอกทิวลิปสูงขึ้น แล้วในที่สุดตลาดดอกทิวลิปก็ถึงจุดสิ้นสุดในปี 1637 เพราะไม่มีใครซื้อดอกทิวลิปอีกต่อไป และเกิดเหตุการณ์การประมูลดอกทิวลิปล้มเหลว ทำให้ความกลัวและความตื่นตระหนกก็แพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ฟองสบู่ดอกทิวลิปแตกในเวลาเพียงไม่กี่วัน

นักประวัติศาสตร์ไม่แน่ใจว่ามีการล้มละลายเกิดขึ้นหรือไม่จากการที่ฟองสบู่ดอกทิวลิปแตก เพราะว่าหาบันทึกทางการเงินในช่วงเวลานั้นได้ยาก แต่เหตุการณ์นี้ก็ทำให้เกิดการสูญเสียอย่างมากต่อนักลงทุนที่ถือสัญญาล่วงหน้าดอกทิวลิป แต่ฟองสบู่ดอกทิวลิปเกี่ยวอะไรกับบิตคอยน์ล่ะ?

 

Tulip Mania กับ Bitcoin

มีหลายคนมองว่าเหตการณ์นี้เป็นตัวอย่างสำคัญของภาวะฟองสบู่แตก มีการพูดว่าเพราะความโลภและการโฆษณาเกินจริงทำให้ราคาดอกทิวลิปสูงเกินกว่าระดับที่สมเหตุสมผล คนที่รู้ว่าราคาไม่สมเหตุสมผลก็จะออกจากตลาดไปก่อน แต่คนที่เข้ามาที่หลังกลับตื่นตระหนกแล้วรีบขายดอกทิวลิปตอนที่ราคามันร่วงแล้ว ทำให้นักลงทุนและผู้ขายจำนวนมากต้องสูญเสียเงิน

เราอาจจะเคยได้ยินผ่านๆมาบ้างเกี่ยวกับการกล่าวหาว่าบิตคอยน์เป็นฟองสบู่ทางการเงินที่รอวันแตก แต่การนำฟองสบู่ดอกทิวลิปมาเปรียบเทียบกับบิตคอยน์ดูเป็นสิ่งไม่ถูกต้องซักเท่าไร เพราะดอกทิวลิปและบิตคอยน์เป็นสินค้าที่แตกต่างกัน มีสถานการณ์ตลาดที่แตกต่างกัน สภาพแวดล้อมทางการเงินในปัจจุบันแตกต่างจากในยุคสมัยนั้นอย่างสิ้นเชิง และมีผู้สนใจในบิตคอยน์มากกว่าดอกทิวลิป

 

ความแตกต่างระหว่าง Tulip Mania และ Bitcoin

หนึ่งในความแตกต่างที่สำคัญคือความสามารถในการเป็นแหล่งสะสมมูลค่า ดอกทิวลิปมีอายุไม่นาน ถึงมันมีราคาสูงขนาดไหนแต่สักวันก็ต้องตาย และไม่สามารถกำหนดรูปร่างที่แน่นอนของดอกทิวลิปได้ รวมกึงการขนย้ายก็มีความเสี่ยงที่จะเสียหาย ในขณะที่บิตคอยน์ที่เป็นสกุลเงินดิจิทัล สามารถโอนย้ายผ่านเครือข่ายบล็อกเชนไปได้ทั่วโลก มีความปลอดภัยและป้องกันการโกงได้ด้วยระบบ proof-of-work

บิตคอยน์ไม่สามารถถูกก็อปปี้หรือทำลายได้ และสามารถแบ่งออกเป็นหน่วยเล็กๆหลายๆหน่วยได้ นอกจากนี้บิตคอยน์ยังมีปริมาณจำกัดที่ 21 ล้านเหรียญ หมดแล้วหมดเลยสร้างเพิ่มไม่ได้ แต่ความเสี่ยงในโลกของคริปโทเคอร์เรนซีก็ยังมีอยู่ นักลงทุนต้องเซฟตัวเองให้มากที่สุดเพื่อป้องกันการสูญเสียเงิน

 

Tulip Mania เป็นฟองสบู่จริงหรือไม่

ในปี 2006 นักเศรษฐศาสตร์ Earl A. Thompson ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง “The tulipmania: Fact or artifact?” เป็นบทความเกี่ยวกับฟองสบู่ดอกทิวลิปนั้นเป็นเรื่องจริงหรือแต่งขึ้น ซึ่งเขาอภิปรายว่า Tulip Mania ไม่ได้เกี่ยวกับความบ้าคลั่งของตลาดแต่อย่างใด แต่เป็นผลมาจากการที่รัฐบาลเปลี่ยนสัญญาซื้ิขายล่วงหน้าดอกทิวลิปให้เป็นสัญญาออปชั่น Thompson กล่าวไว้ว่ามันไม่ถือว่าเป็นฟองสบู่ เพราะฟองสบู่คือการที่สินทรัพย์มีราคาสูงกว่าความเป็นจริง แต่จริงๆแล้วไม่ได้เป็นแบบนั้น

ในปี 2007 Anne Goldgar ได้ตีพิมพ์หนังสือชื่อ “Tulipmania: Money, Honor, and Knowledge in the Dutch Golden Age,” ซึ่งเธอได้นำเสนอหลักฐานมากมายที่บ่งชี้ว่าเรื่องราวของฟองสบู่ดอกทิวลิปนั้นมีข้อเท็จจริงน้อยมาก จากการวิจัยเอกสารสำคัญอย่างครอบคลุม มีข้อโต้แย้งว่าการเกิดขึ้นและการแตกของฟองสบู่ดอกทิวลิปนั้นเล็กกว่าที่คนส่วนใหญ่คิด และผลกระทบต่อเศรษฐกิจนั้นน้อยมาก จำนวนผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นก็ค่อนข้างน้อย

Reference :

Binance Academy