DeFi คืออะไร

การมาของ Decentralized Finance (DeFi) ได้ส่งผลกระทบต่อระบบการเงินของโลก DeFi ประกอบด้วยนวัตกรรมทางการเงินที่สำคัญ คือ การทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงระบบการเงินโดยที่ไม่ต้องพึ่งพาคนกลางอย่างธนาคารหรือสถาบันทางการเงินต่างๆ

การทำให้ทุกคนที่มีอินเทอร์เน็ตสามารถเข้าถึงระบบการเงิน เช่น การกู้ยืมเงิน ซื้อขาย และรับดอกเบี้ยจากสินทรัพย์ดิจิทัลที่มี แต่อย่างไรก็ตาม มีโปรเจค DeFi จำนวนมากเข้ามาสู่ตลาด การตรวจสอบและวิเคราะห์โปรเจค DeFi ให้ถ่องแท้จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ที่ตั้งใจจะใช้งาน

 

ทำความเข้าใจพื้นฐานของ DeFi

ก่อนที่จะเริ่มกระบวนการวิเคราะห์ สิ่งที่สำคัญคือการทำความเข้าใจพื้นฐานของ DeFi มันคือแพลตฟอร์มทางการเงินที่สร้างขึ้นบนเครือข่ายบล็อกเชน ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อมอบทางเลือกทางการเงินให้กับผู้ใช้งาน เช่น ความเปิดกว้าง ไม่ต้องผ่านการอนุมัติจากใคร ไม่ต้องเชื่อใจใคร โดยทั่วไปแล้วโปรเจค DeFi จะมีฟีเจอร์ต่างๆ เช่น การกู้ยืม การแลกเปลี่ยนแบบไร้คนกลาง และการทำฟาร์ม(เงิน)

เนื่องจากการสร้าง DeFi นั้นเปิดกว้าง จึงคนและทีมพัฒนาจำนวนมากที่พยายามสร้างโปรเจคของตน ซึ่งสร้างออกมาหลากหลายรูปแบบ และครอบคลุมประเภทการใช้งานที่หลากหลาย เช่นการให้ผู้ใช้งานควบคุมข้อมูลส่วนตัวได้ และการทำให้ผู้ใช้งานเป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัลโดยสมบูรณ์ ผู้ที่ตั้งใจจะใช้งาน DeFi ควรใช้งานอย่างระมัดระวัง

 

ทำไมต้องตรวจสอบโปรเจค DeFi

DeFi มีความเสี่ยงอยู่หลายอย่างและการที่มันเติบโตอย่างรวดเร็วแบบนี้ การตรวจสอบหรือศึกษาแต่ละโปรเจคให้ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะ DeFi ก็มีความเสี่ยงเป็นของตัวเอง เช่น Rug pull โดนแฮก และระบบผิดพลาด การประเมินปัจจัยพื้นฐาน ทีมพัฒนา เทคโนโลยี และความปลอดภัยของโปรเจคอย่างละเอียด จึงช่วยให้นักลงทุนสามารถตัดสินใจได้ดีขึ้น และช่วยให้หลีกเลี่ยงโปรเจคที่ตั้งใจมาหลอกลวงได้

 

ปัจจัยที่ใช้ประเมินโปรเจค DeFi

Total value locked (TVL)

Total value locked หรือ TVL คือจำนวนเงินทั้งหมดที่ถูกล็อคไว้ในโปรเจค DeFi ตัวอย่างเช่น TVL ของ Uniswap มีมูลค่ามากกว่า 4 พันล้านดอลลาร์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2023 หมายความว่าผู้ใช้งานได้ฝากเงินเข้า Uniswap มามากกว่า4 พันล้านดอลลาร์ เราสามารถดู TVL เพื่อประเมินว่าผู้คนให้ความสนใจกับโปรเจคนี้มากแค่ไหน หรือใช้เปรียบเทียบเพื่อดูว่าโปรเจค DeFi ใด “ล็อค” มูลค่าไว้มากกว่ากัน ยิ่ง TVL สูง ยิ่งแสดงถึงความแข็งแกร่งของโปรเจค

Market Capitalization

มูลค่าตามราคาตลาด (Market capitalization) คือ ราคาปัจจุบันของเหรียญ x จำนวนเหรียญทั้งหมด มูลค่าตามราคาแสดงถึงขนาดและความโดดเด่นของโปรเจค ยิ่ง Market cap สูงแปลว่าโปรเจคมีขนาดใหญ่ แต่ก็ต้องดูเรื่องอื่นควบคู่ไปด้วย เช่น ประโยชน์ของโปรเจค การนำไปใช้งานจริง และความสามารถในการแข่งขัน

ปริมาณซื้อขายภายใน 24 ชั่วโมง

ปริมาณการซื้อขายใน 24 ชั่วโมงที่สูงบ่งบอกถึงความ active และสภาพคล่องที่ดีของโปรเจค และกลับกันปริมาณการซื้อขายใน 24 ชั่วโมงที่ต่ำบ่งบอกถึงสภาพคล่องที่ต่ำ ซึ่งส่งผลกระทบหลายอย่าง เช่น ผู้คนอาจไม่สนใจในโปรเจค หรือโปรเจคไม่น่าสนใจพอ

อัตราการเพิ่มขึ้นของเหรียญ

ปัจจัยที่สำคัญอันดับต้นๆคืออัตราการเพิ่มขึ้นของเหรียญที่สร้างขึ้นมาเพิ่มในโปรเจค DeFi อัตราการเพิ่มที่ต่ำอาจจะเป็นผลดีกว่า เนื่องจากมีการควบคุมอุปทานของเหรียญที่ดีและมูลค่าของเหรียญอาจสูงขึ้นได้เมื่อเวลาผ่านไป

จำนวนผู้ใช้งานที่ไม่ซ้ำกัน

จำนวนผู้ใช้งานที่นับจาก wallet address ที่ไม่ซ้ำกัน เป็นปัจจัยที่บ่งบอกว่าโปรเจคได้รับความนิยมมากน้อยขนาดไหน จำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นก็หมายถึงโปรเจคมีความสามารถในการดึงดูดผู้คนให้มาใช้งาน แต่ก็ต้องจำไว้ด้วยว่าปัจจัยนี้มันสามารถใช้การชักจูงได้ เช่น คนดังมาโปรโมทให้อะไรแบบนี้ ซึ่งนักลงทุนควรใช้ปัจจัยนี้ในการวิเคราะห์ร่วมกับปัจจัยอื่นๆ

 

การประเมินเทคโนโลยี DeFi

เทคโนโลยีพื้นฐานของโปรเจค DeFi คือสิ่งที่บ่งบอกถึงความสามารถและประสิทธิภาพในการใช้งานจริง หนึ่งในสิ่งที่ควรดูได้แก่โปรเจค DeFi นั้นสร้างขึ้นบนบล็อกเชนใด

ตัวอย่างเช่น Ethereum ซึ่งเป็นตัวเลือกบล็อกเชนที่นักพัฒนานิยมเข้าไปสร้างโปรเจค เพราะ Ethereum ค่อนข้างมีความแข็งแกร่งและเป็นที่ยอมรับของผู้ใช้งาน แต่ก็มีบล็อกเชนของค่ายอื่นๆที่เป็นทางเลือกที่น่าสนใจเช่นกัน เช่น บล็อกเชนที่สามารถรองรับผู้ใช้งานได้จำนวนมาก บล็อกเชนที่มีความรวดเร็วในการใช้งาน ซึ่งนักลงทุนควรชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดีและข้อเสียของเครือข่ายบล็อกเชนที่เป็นพื้นฐานของโปรเจค DeFi

สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือ สัญญาอัจฉริยะ (smart contract) ของโปรเจค DeFi สัญญาอัจฉริยะคือสัญญาที่สามารถดำเนินการด้วยตัวเองบนบล็อกเชน ซึ่งเงื่อนไขข้อตกลงของสัญญาจะถูกเขียนเป็นโค้ดไว้ ทีมพัฒนาควรตรวจสอบโค้ดของสัญญาอัจฉริยะเป็นประจำเพื่อลดช่องโหว่ที่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะถ้าโค้ดของสัญญาอัจฉริยะมีข้อผิดพลาด อาจจะทำให้นักลงทุนต้องเสียเงินที่ลงทุนไปได้

 

วิเคราะห์กลไกทางเศรษฐกิจของโปรเจค DeFi

กบไกบทางเศรษฐกิจในที่นี้หมายถึงสิ่งจูงใจที่โปรเจค DeFi ต่างๆสร้างขึ้นมาเพื่อดึงดูดนักลงทุน สิ่งที่ต้องพิจารณาคือจุดมุ่งหมายของเหรียญคืออะไร ต้องดูปัจจัยต่างๆ เช่น อุปทานของเหรียญมีเท่าใด และมีวิธีการแจกจ่ายเหรียญอย่างไร เพราะว่าเหรียญที่ถูกสร้างขึ้นมา จะถูกแจกจ่ายไปยังฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น ทีมพัฒนา คอมมูนิตี้ นักลงทุน หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ

อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องพิจารณาก็คือกลไกการสร้างเหรียญ เช่นการขุดเหรียญ การ staking ซึ่งเป็นวิธีสร้างเหรียญใหม่ๆออกมาสู่เครือข่าย การวิเคราะห์ปัจจัยเหล่านี้ช่วยให้นักลงทุนเข้าใจว่าเหรียญนั้นมีอัตราการเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด มีความหายากขนาดไหน และมีสิ่งจูงใจสำหรับดึงดูดนักลงทุนอย่างไร

สุดท้ายคือการดูว่าโปรเจค DeFi นั้นๆมีแหล่งรายได้จากทางใด การทำความเข้าใจว่าทีมพัฒนาสร้างรายได้และหาเงินมาดำเนินงานโปรเจคต่อไปได้อย่างไร จะทำให้เราได้รู้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับมูลค่าที่เหรียญนั้นจะสามารถทำได้ และเหรียญนั้นจะมีความยั่งยืนมากน้อยขนาดไหน ซึ่งแหล่งรายได้ของโปรเจค DeFi อาจจะเป็น ค่าธรรมเนียม ค่าเข้าใช้งานแพลตฟอร์ม และอื่นๆ

Reference :

Binance Academy