บล็อกเชนคืออะไร

บล็อกเชนคือฐานข้อมูลแบบกระจายศูนย์ ที่มีการแชร์ข้อมูลกันระหว่างเครือข่ายคอมพิวเตอร์ บล็อกเชนเก็บข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล และโลกส่วนใหญ่ได้รู้จักกับบล็อกเชนเพราะคริปโทเคอร์เรนซี อย่างเช่น Bitcoin โดยบล็อกเชนทำหน้าที่สำคัญให้กับคริปโทเคอร์เรนซีโดยการรักษาและบันทึกข้อมูลธุรกรรมแบบกระจายศูนย์ นวัตกรรมของบล็อกเชนที่สำคัญคือมันสามารถรับประกันความถูกต้องและความปลอดภัยของข้อมูลที่ถูกบันทึก โดยไม่จำเป็นต้องมีคนกลางหรือบุคคลที่ 3 มาคอยตรวจสอบ

สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างฐานข้อมูลแบบปกติกับบล็อกเชนคือโครงสร้างของข้อมูล บล็อกเชนเก็บข้อมูลไว้เป็นกลุ่มหรือที่เรียกว่า “บล็อก” แต่ละบล็อกมีความจุข้อมูลคงที่ เวลาบันทึกข้อมูลเต็มบล็อกแล้วจะทำการปิดบล็อกและทำการเชื่อมเข้ากับบล็อกที่ทำการปิดก่อนหน้า กลายเป็นสายของข้อมูลที่ร้อยต่อกันเรื่อยๆ ที่เรียกกันว่า “บล็อกเชน”

โครงสร้างของข้อมูลลักษณะนี้ทำให้ไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขข้อมูลได้ เมื่อบล็อกถูกปิดไปแล้วมันจะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้อีก ยิ่งบล็อกที่เวลาผ่านไปนานแล้ว ยิ่งรับประกันว่าจะไม่สามารถถูกแก้ไขได้อย่างแน่นอน

 

บล็อกเชนกับการกระจายศูนย์

บล็อกเชนสร้างขึ้นมาด้วยแนวคิดที่ว่าการเก็บข้อมูลไว้ในแหล่งเดียวนั้นมีความเสี่ยงที่ข้อมูลจะสูญหาย เช่น อาคารหลังหนึ่ง มีคอมพิวเตอร์ 10,000 เครื่อง ซึ่งถูกใช้เป็นศูนย์ server สำหรับเก็บข้อมูลของลูกค้า ซึ่งข้อมูลทั้งหมดมีอยู่เพียงในคอมพิวเตอร์พวกนี้ ไม่มี copy ไว้ที่อื่น มันอาจจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด อย่าง เหตุการณ์ไฟฟ้าดับ สัญญาณอินเทอร์เน็ตหาย ไฟไหม้ แฮกเกอร์โจมตี ถึง server แทบทุกที่จะมีการป้องกันอย่างดี แต่เหตุการณ์พวกนี้ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ

ซึ่งแนวคิดนี้จริงๆแล้วได้เริ่มมาตั้งแต่สมัยก่อนกำเนิดอินเทอร์เน็ตเสียอีก ผู้ริเริ่มมาจากกองทัพสหรัฐ เพราะกองทัพสหรัฐกลัวว่าการเก็บข้อมูลไว้เพียงจุดเดียว ถ้าเกิดสงครามขึ้นมาแล้วศูนย์ข้อมูลถูกโจมตี ประเทศจะเสียเปรียบทันที กองทัพจึงได้คิดค้น Arpanet อินเทอร์เน็ตยุคเริ่มแรกขึ้นมา เพื่อทำการกระจายข้อมูลไว้หลายๆจุด ซึ่งต่อมาก็กลายมาเป็นอินเทอร์เน็ตแบบที่เรารู้จักในปัจจุบัน

เครือข่ายบล็อกเชนจะเก็บข้อมูลชุดเดียวกัน กระจายอยู่บนโหนดของเครือข่ายที่มีอยู่ทั่วโลกและนอกโลก (บนดาวเทียม) และวางระบบให้ไม่มีโหนดใดโหนดหนึ่งสามารถแก้ไขข้อมูลได้ ซึ่งมันทำให้เครือข่ายสามารถรักษาความถูกต้องและความโปร่งใสของข้อมูลไว้

เพราะถ้าหากมีคนพยายามจะแก้ไขข้อมูลที่โหนดใดโหนดหนึ่ง ข้อมูลในโหนดอื่นๆจะไม่ถูกแก้ไขไปด้วย รวมถึงสามารถป้องกันผู้ประสงค์ร้ายที่จะเข้ามาทำลายระบบด้วย หากมีใครคนหนึ่งทำการทุจริตบนเครือข่าย โหนดอื่นๆจะมีการเช็คข้อมูลระหว่างกันและระบุโหนดที่มีข้อมูลไม่ถูกต้องได้อย่างง่ายดาย ด้วยเหตุนี้ประวัติของข้อมูล เช่น ข้อมูลธุรกรรมของบิตคอยน์จึงไม่สามารถย้อนกลับได้

 

ความโปร่งใสของ Blockchain

เพราะพื้นฐานความกระจายศูนย์ของบิตคอยน์นี้เอง ทุกธุรกรรมของบิตคอยน์จะถูกเปิดเผย ทุกคนสามารถดูธุรกรรมทุกธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนเครือข่าย โดยใช้ blockchain explorers ซึ่งจะเห็นว่า wallet ไหนส่ง BTC ให้ใคร จำนวนเท่าใด ถ้าเราสามารถจับคู่ wallet กับบุคคลที่ใช้งานได้ จะทำให้เราสามารถติดตามการเคลื่อนไหวของ wallet ของใครก็ได้ เช่น wallet ของ วาฬ คนดัง บริษัทต่างๆ

มันเคยมีเหตุการณ์ที่ exchange ถูกแฮก ทำให้ผู้ที่ถือบิตคอยน์ไว้บน exchange ต้องสูญเสียบิตคอยน์ทั้งหมดไป ในขณะที่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าแฮกเกอร์คือใคร แต่บิตคอยน์ที่ถูกขโมยไปนั้นง่ายที่จะติดตามมาก ถ้าบิตคอยน์เหล่านี้ถูกเคลื่อนย้ายหรือใช้จ่ายไปที่ใด แฮกเกอร์จะถูกเปิดเผยตัวทันที

 

การใช้ประโยชน์ของ Blockchain

เทคโนโลยี Blockchain ถูกออกแบบในปี 1991 โดยนักวิจัยสองคนชื่อ Stuart Haber และ W. Scott Stornetta พวกเขาต้องการสร้างระบบที่ไม่สามารถแก้ไขการบันทึกเวลาของข้อมูลได้ แต่ยังไม่ได้ใช้งานจริงจนผ่านมาเกือบ 20 ปี จนมาถึงตอนที่บิตคอยน์ถือกำเนิดขึ้นในเดือนมกราคม ปี 2009 เป็นตอนที่เทคโนโลยี Blockchain ได้ใช้งานจริงเป็นครั้งแรก

Bitcoin

บิตคอยน์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี Blockchain ในรายงานวิจัยสกุลเงินดิจิทัลของ Satoshi Nakamoto บุคคลในนามแฝงผู้สร้างบิตคอยน์ ได้เรียกบิตคอยน์ว่าเป็น “ ระบบการเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็น peer-to-peer โดยสมบูรณ์และไม่จำเป็นต้องมีความเชื่อถือในบุคคลที่ 3”

Vote

ในปัจจุบันมีโปรเจคมากมายที่พยายามนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ประโยชน์ในหลากหลายวิธีมากขึ้น มากกว่าแค่บันทึกข้อมูลธุรกรรม ตัวอย่างเช่น ใช้ในการเลือกตั้งเพื่อความปลอดภัยและเป็นประชาธิปไตย ด้วยความที่เครือข่ายบล็อกเชนนั้นเปิดเผยและสามารถติดตามได้ จึงสามารถรับประกันได้ว่าการนับคะแนนจะโปร่งใส ไม่สามารถโกงหรือมีบัตรเขย่งได้