อินเทอร์เน็ตได้พัฒนาจากการสื่อสารทางเดียว “Web 1.0” มาเป็น Web 2.0 ในปัจจุบัน และในตอนนี้เรากำลังค่อยๆก้าวเข้าสู่ขั้นต่อไปของอินเทอร์เน็ต นั่นคือ “Web 3.0” ซึ่งบทความนี้จะเล่าว่า Web 3.0 คืออะไร มีที่มาอย่างไร และเกี่ยวข้องกับ Blockchain และคริปโทเคอร์เรนซีอย่างไร

 

Web3 คืออะไร

วิวัฒนาการหลักๆของอินเทอร์เน็ตมักถูกเรียกกันเป็นยุคว่า Web1 Web2 และ Web3 ในส่วนของ Web1 นั้นผู้ใช้งานสามารถรับสื่อจากเว็บไซต์ได้ทางเดียว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลออนไลน์ หรืออัปโหลดข้อมูลเข้าสู่เว็บไซต์ที่ใช้งานอยู่ได้ อินเทอร์เน็ตสมัยนั้นจะใช้ static HTML ในการสร้างเว็บ ซึ่งมีการใช้งานที่เรียบง่าย เช่น อ่านนู้นอ่านนี่บนหน้าเว็บไซต์

พอถึงยุคของ Web2 ในตอนเริ่มแรกเราสามารถอัปโหลดเนื้อหาบนเว็บไซต์ รวมถึงทำการโต้ตอบอย่างง่ายได้ หลังจากนั้นก็เกิดการพัฒนาขึ้น กลายเป็นอินเทอร์เน็ตแบบ interactive ที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถมีส่วนร่วม และเน้นให้ผู้ใช้งานสร้างเนื้อหาของตนเองมากขึ้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเป็นหลัก เช่น Facebook , YouTube ซึ่งภายหลังบริษัทเหล่านี้ก็เติบโตกลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในปัจจุบัน

โลกของ Web2 เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งเมื่อเกิดปัญหากับการใช้งานมากขึ้น เช่น ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลของเว็บไซต์ และปัญหาการปิดกั้นข้อมูล

ซึ่งมีผู้ใช้งานที่มองว่าอำนาจของบริษัทผู้ให้บริการเว็บไซต์มีมากเกินไป เช่นการแบนผู้ใช้งานและองค์กรบางกลุ่มออกจากแพลตฟอร์ม และบริษัทเหล่านี้ได้เก็บข้อมูลของผู้ใช้งานแล้วมาสร้างโฆษณาแบบส่งตรงเป้าหมายเพื่อประโยชน์ของบุคคลที่สาม ซึ่งมีการมองว่าการกระทำของบริษัทผู้ให้บริการทำเพื่อผลประโยชน์ทางการเงิน มากกว่าทำเพื่อผลประโยชน์ของผู้ใช้งาน

โดย Web3 มีวิสัยทัศน์คือการเป็นอินเทอร์เน็ตที่ดีขึ้น รวมถึงการทำให้แพลตฟอร์มออนไลน์มีการกระจายอำนาจ เชื่อถือได้ และเป็นจุดเริ่มต้นของความเป็นเจ้าของทางดิจิทัล การชำระเงินแบบดิจิทัล ต่อต้านการปิดกั้นการมองเห็น ซึ่งจะเป็นมาตรฐานใหม่ของเว็บไซต์

ซึ่ง Blockchain และ คริปโทเคอร์เรนซี มีความเหมาะสมที่จะเป็นเทคโนโลยีสำคัญของ Web3 เพราะมีพื้นฐานคือการกระจายอำนาจ ทุกคนสามารถบันทึกข้อมูลบนเครือข่าย สามารถสร้างโทเค็นดิจิทัล และสามารถสร้างตัวตนแบบดิจิทัลได้

 

Blockchain สามารถใช้ประโยชน์ใน Web3 ได้อย่างไร

กระจายอำนาจ

ด้วยมุมมองที่ว่าปัญหาของ Web2 คือการกระจุกตัวของอำนาจและข้อมูล ที่อยู่ในมือของบริษัทไม่กี่ราย Blockchain และ คริปโทฯ สามารถกระจายอำนาจของ Web3 โดยช่วยในการกระจายอำนาจและข้อมูลให้กว้างขึ้น ซึ่ง Web3 สามารถใช้บัญชีแบบกระจายศูนย์ที่ขับเคลื่อนด้วย Blockchain เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและการกระจายอำนาจมากขึ้น

ความโปร่งใส

โปรเจคที่สร้างบนเครือข่ายบล็อกเชนมีการเขียน code แบบเปิดเผย ความเปิดเผยของแพลตฟอร์มที่สร้างขึ้นบนบล็อคเชนทำให้ผู้ใช้งานทุกคนสามารถเข้าถึง และโต้ตอบได้โดยไม่มีข้อจำกัด

ไม่ต้องไว้วางใจ

Blockchain และ คริปโทฯ ขจัดความจำเป็นในการไว้วางใจบุคคลที่สาม เช่น ธนาคารหรือผู้ให้บริการออกไป ผู้ใช้ Web3 สามารถทำธุรกรรมได้โดยไม่ต้องไว้วางใจในองค์กรใดๆนอกจากตัวเครือข่ายบล็อคเชน

เป็นช่องทางชำระเงิน

คริปโทเคอร์เรนซีสามารถทำหน้าที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการชำระเงินแบบดิจิทัลของ Web3 ซึ่งสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถใช้งานได้อย่างสะดวกและปลอดภัย

ความเป็นเจ้าของ

คริปโทเคอร์เรนซีมีเครื่องมือคือ wallet ที่สร้างโดยใช้ private key และ public key ซึ่งผู้ที่มีรหัสเท่านั้นจะสามารถเข้าถึงกระเป๋าได้ โดย wallet ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเก็บเงินได้โดยไม่ต้องมีตัวกลาง ผู้ใช้งานยังสามารถเชื่อมต่อกระเป๋าเงินกับ decentralized apps เพื่อใช้เงินทำธุรกรรมต่างๆได้

ต่อต้านการปิดกั้น

บล็อคเชนถูกออกแบบมาให้ต่อต้านต่อการปิดกั้น หมายความว่าไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ เมื่อบันทึกลงบนบล็อคเชนแล้วแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะลบออกหรือแก้ไข ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่สามารถช่วยป้องกันการปิดกั้นจากรัฐบาลและองค์กรต่างๆ

 

Blockchain และ คริปโทฯ จำเป็นต่อ Web3 หรือไม่

Web3 อาจพึ่งพาเทคโนโลยีที่ไม่เกี่ยวข้องกับ blockchain และคริปโทฯ อย่างเช่น Augmented Reality (AR) ,Virtual Reality (VR) , internet of things(IoT) รวมถึง metaverse ส่วนบล็อคเชนเหมาะสมกับทำงานในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานของ Web3 คริปโทฯสามารถเป็นช่องทางชำระเงิน และโทเค็นสามารถใช้งานได้อย่างหลากหลายบน Web3

 

Web3 และ Blockchain จะมีลักษณะอย่างไร

เทคโนโลยีบล็อคเชนสามารถเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานของ Web3 ได้โดยที่ผู้ใช้งานอาจไม่ได้สังเกตเลย หากแอปพลิเคชันที่สร้างบนบล็อคเชนนั้นเป็นมิตรกับผู้ใช้งานและใช้งานง่าย ผู้คนจะไม่นึกถึงโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ภายใต้แนวคิดอื่น เหมือนที่เราไม่ค่อยนึกถึงการทำงานของเซมิคอนดัคเตอร์เวลาเราใช้คอมพิวเตอร์

Blockchain และคริปโทเคอร์เรนซีสามารถทำให้วิธีการใช้งาน Web3 เปลี่ยนไปด้วยการใช้ decentralized autonomous organizations (DAOs) ที่มอบอำนาจให้ผู้คนจัดระเบียบ และจัดการผลประโยชน์ร่วมกันโดยที่ไม่มีอำนาจตัดสินใจจากส่วนกลาง ผู้ใช้งานจะถือโทเค็นที่สามารถใช้โหวตเพื่อกำหนดแนวทางปฎิบัติร่วมกัน โดยที่กิจกรรมและการโหวตทั้งหมดจะสามารถเห็นได้บนบล็อคเชน ซึ่งเป็นการเน้นชุมชนเป็นศูนย์กลางมากขึ้น

Web3 อาจแก้ปัญหาใหญ่ๆของอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันและลดอำนาจของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ แต่ Web3 ส่วนใหญ่ยังเป็นแค่แนวคิดและวิสัยทัศน์ที่มีความทะเยอทะยาน ซึ่งยังจับต้องไม่ค่อยได้ในตอนนี้ แต่ตอนนี้เทคโนโลยีต่างๆก็กำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีความเป็นไปได้ว่า Web3 จะสามารถเกิดขึ้นได้จริงในวันหนึ่ง