Network effect คืออะไร

   “เมื่อคนเข้าร่วมมากขึ้น มูลค่าของสินค้าและบริการจะเพิ่มขึ้น”คำจำกัดความสั้นๆของ Network effect เป็นเหตุผลว่าทำไมคริปโทเคอร์เรนซีบางเหรียญที่มีโปรเจคดีๆแต่ไม่มีมูลค่า แต่เหรียญมีมที่ทำขึ้นขำๆกับมูลค่าสูง

   เป็นแนวคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์ที่อธิบายปรากฎการณ์ที่สินค้าและบริการ เมื่อมีคนเข้ามาใช้มากขึ้น มูลค่าของสินค้าและบริการก็มากขึ้นด้วย และเมื่อมูลค่ามากขึ้นก็ดึงดูดคนเข้ามามากขึ้น แล้วก็วงจรแบบนี้ต่อเนื่องไป

   ตัวอย่างที่ชัดเจนอย่างหนึ่งของ network effect คือ เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ในเริ่มแรกอาจมีการเชื่อมต่อกันเพียงไม่กี่เครื่อง เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันธรรมดา แต่เมื่อเทคโนโลยีด้านอินเทอร์เน็ตพัฒนาขึ้นคนก็สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันไม่กี่คน กลายมาเป็นพื้นที่ให้คนได้โลดแล่นในโลกแห่งข้อมูลข่าวสารที่มาจากทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะโซเชียลมีเดีย เกมออนไลน์ เว็บไซต์ต่างๆ หัวใจหลักของอินเทอร์เน็ตจริงๆคือคนทั้งโลกสามารถเชื่อมต่อกัน

ยกตัวอย่าง Network effect

   ในปัจจุบัน Network effect เกิดขึ้นในหลากหลายสินค้าหลากหลายบริการ หนึ่งในตัวอย่างที่ดีของ network effect ในปัจจุบันคือโซเชียลมีเดีย ผู้คนจะใช้บริการแพลทฟอร์มที่มีคนนิยมใช้สูงเนื่องจากแพลทฟอร์มที่มีคนใช้มาก การเคลื่อนไหวต่างๆและการปฏิสัมพันธ์ของผู้คนก็จะมากซึ่งเป็นผลดีต่อคนที่ต้องการติดตามข่าวสาร พูดคุย ขายของ ให้ความรู้ ในการเข้าถึงผู้คนจำนวนมาก

   เป็นเรื่องยากมากในปัจจุบันถ้ามีใครซักคนต้องการสร้างแพลทฟอร์มโซเชียลมีเดีย แล้วต้องการทำให้มีคนใช้งานและมีความนิยมสูงเทียบเท่ากับแพลทฟอร์มเก่าๆ อย่างเช่น Facebook หรือ Twitter ซึ่งแพลทฟอร์มพวกนี้ได้สร้าง network effect ที่เป็นอุปสรรคสำหรับคู่แข่งใหม่ๆที่ต้องการเข้าสู่ตลาด นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ Elon Musk เลือกที่จะซื้อ Twitter แทนที่จะสร้างแพลทฟอร์มใหม่ขึ้นมาเอง

ความเป็นมาของ network effect

   Network effect เกิดขึ้นมาเมื่อศตวรรษที่ 20 พร้อมๆกับการคิดค้นโทรศัพท์ Theodore Vail ประธานบริษัท bell telephone ได้ยกเรื่อง network effect มาเป็นเหตุผลว่าทำไมบริษัท bell telephone ถึงควรเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เพียงผู้เดียว ถัดมา Robert metclafe หนึ่งในผู้สร้าง Ethernet ทำให้แนวคิดนี้แพร่หลายด้วยการนำเสนอกฎของเมตคาล์ฟ (Metcalfe’s law) ที่ว่าด้วยมูลค่าของเครือข่ายการสื่อสารคือสัดส่วนของจำนวนผู้ใช้งานในระบบยกกำลังสอง จนแนวคิดนี้เป็นที่แพร่หลายในปัจจุบัน

Network effect กับ bitcoin

   Network effect เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คริปโทเคอร์เรนซีอยู่รอดและเติบโตได้ยกตัวอย่างเช่นบิตคอยน์ network effect ทำให้บิตคอยน์มีความนิยมและมีความแข็งแกร่งแบบในปัจจุบัน บิตคอยน์มีนักขุดที่เป็นเหมือนผู้ที่คอยรักษาความปลอดภัยของเครือข่าย และได้ผลตอบแทนเพื่อเป็นแรงจูงใจให้นัดขุดทำงาน

   แต่ก็มีเครือข่ายอื่นๆที่ใช้วิธีแบบเดียวกับบิตคอยน์ อาจจูงใจโดยจะให้ผลตอบแทนกับนักขุดสูงกว่าบิตคอยน์ แต่นักขุดขุดได้เหรียญมาเยอะก็จริง แต่เหรียญนั้นอาจไม่เป็นที่นิยมในตลาด สภาพคล่องในตลาดน้อย ได้เหรียญมาก็ขายไม่ได้ ขายได้ก็ราคาต่ำมาก นักขุดจึงไม่อยากพึ่งดวง หวังว่าเหรียญที่ขุดจะเป็นที่นิยมในอนาคต รอสักวันที่จะขายได้ราคาสูงๆ แต่กลับไปทางเลือกเดิมคือขุดบิตคอยน์ต่อไป แม้ผลตอบแทนจะน้อยกว่าและน้อยลงเรื่อยๆแต่ก็การันตีได้ว่าเหรียญที่ได้มาจะขายได้แน่นอน

   นี่คือปรากฏการณ์ network effect ที่มาเกี่ยวข้อง แม้เหรียญอื่นๆจะมีเทคโนโลยีขั้นสูง ให้ผลตอบแทนสูง แต่ถ้าไม่มีคนนิยมคนก็จะไม่เข้าไปหา แล้วไปหาเหรียญที่มีความนิยมอย่างบิตคอยน์ แล้วบิตคอยน์ก็มูลค่าสูงขึ้นไปอีก แต่ไม่จำเป็นต้องบิตคอยน์เพียงอย่างเดียว เหรียญมีมที่เป็นกระแสก็เกิดปรากฏการณ์นี้ได้อย่างเช่น Doge coin ที่เคยมูลค่าตลาดขึ้นสูงจนติด 10 อันดับแรกโดยเป็นเหรียญที่สร้างมาขำๆเท่านั้น

Network effect อีกด้านของบิตคอยน์

   ตอนเริ่มแรกที่บิตคอยน์กำเนิดขึ้นมายังไม่เกิดปรากฏการณ์นี้ ทุกคนที่ขุดและใช้บิตคอยน์ในระยะเริ่มแรกเป็นนักพัฒนาและคนที่ชื่นชอบเทคโนโลยี ที่ไม่ได้หวังผลตอบแทนใดๆ เพราะตอนนั้นบิตคอยน์แทบไม่มีมูลค่าใด ถึงขนาดมีคนนำ 10000 บิตคอยน์ไปซื้อพิซซ่าได้ 2 ถาด

   แต่บิตคอยน์ก็ค่อยๆขยายไปทีละน้อย เริ่มเป็นที่รู้จักในคนสายเทคโนโลยี แล้วก็รู้จักในคนหมู่มาก แล้วมาถึงจุดหนึ่งก็เกิดปรากฏการณ์ network effect หลายๆคนในโลกรู้จักบิตคอยน์ และยินดีที่จะเข้ามาขุดบิตคอยน์หรือเทรดบิตคอยน์ ที่มีมูลค่าสูงแบบในปัจจุบัน

   ซึ่งเป็นสิ่งดีที่ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นช้าในตอนที่บิตคอยน์เริ่มมีความแข็งแกร่งแล้ว เพราะบิตคอยน์ในช่วงปีแรกถูกมองว่าไร้ค่าไร้ราคาจึงไม่มีใครสนใจที่จะทำลายและโจมตี จึงทำให้บิตคอยน์ได้เติบโตในปัจจุบัน

   หลังๆมีหลายเหรียญที่ต้องการทำแบบบิตคอยน์ แต่ก็ไม่ได้มีโอกาสได้เติบโตเงียบๆแบบบิตคอยน์ และโดนทำลาย เช่น Bitcoin SV , Ethereum Classic เพราะระยะเริ่มแรกนั้นเหรียญที่ใช้ระบบนี้หรือที่เรียกว่า POW จะถูกทำลายง่ายมากจาก 51% attack เพราะคนต้องการทำลายและต้องการเงินที่อยู่ในเครือข่าย เพราะเห็นตัวอย่างมาแล้วจากบิตคอยน์ว่าเหรียญพวกนี้มีมูลค่าเพียงใด

Network effect และ Negative Network effect

   Network effect มีด้านบวกแล้วก็ต้องมีด้านลบ หมายความว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้มูลค่าสินค้าและบริการลดลง ยิ่งคนมาใช้มาก มูลค่าก็ลดลงแทนที่จะเพิ่มขึ้น และปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในคริปโทเคอร์เรนซีเช่นกัน เครือข่ายที่มีการสร้างพื้นฐานมาไม่ดี ทำให้รองรับผู้ใช้งานได้ไม่มากพอเมื่อคนใช้งานเยอะๆระบบก็ช้า

   ยกตัวอย่างจาก Ethereum gas คนที่ต้องการทำธุรกรรมบน Ethereum ต้องจ่ายค่า gas คนที่จ่ายค่า gas มากสุดจะได้ทำธุรกรรมเป็นคนแรก และเมื่อมีคนมาทำธุรกรรมมากๆ คนก็ยอมจ่ายค่า Gas สูงขึ้นเรื่อยๆเพื่อให้ทำธุรกรรมอย่างรวดเร็ว จนทำให้ตอนนี้ค่า gas บน Ethereum ถึงสูงมากกว่า 10 USD ต่อธุรกรรม

Referrence:

https://academy.binance.com/en/articles/what-is-a-network-effect

https://www.investopedia.com/terms/n/network-effect.asp

https://www.youtube.com/watch?v=tscb-K0uLek&t=332s