บทบาทของ Validator ในบล็อกเชน
Validator มีหน้าที่ในการยืนยันธุรกรรมในระบบฉันทามติของบล็อกเชน เช่น Proof-of-Stake (PoS) และ Proof-of-Authority (PoA) Validator จะตรวจสอบว่าธุรกรรมใหม่นั้นถูกต้องตามกฎของเครือข่าย และผู้ส่งมีเงินเพียงพอสำหรับการทำธุรกรรมหรือไม่
Validator ยังมีหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยของบล็อกเชน โดยเฝ้าระวังและป้องกันกิจกรรมที่ไม่ถูกต้อง เช่น การใช้จ่ายซ้ำซ้อน (Double-Spending) ที่หมายถึงการนำเงินก้อนเดิมมาใช้ซ้ำสองครั้ง
โดย Validator จะได้รับค่าตอบแทนเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ใช้ในบล็อกเชนนั้นๆ เช่น Validator ในบล็อกเชน Solana จะได้รับค่าตอบแทนเป็น SOL (SOL)
การทำงานของ Validator ในระบบ Proof-of-Stake (PoS)
Validator ในระบบ PoS มีหน้าที่ตรวจสอบว่าธุรกรรมในบล็อกที่เสนอมา (บล็อกที่จะถูกบรรจุลงในบล็อกเชน) มีความถูกต้อง จากนั้นเพิ่มบล็อกใหม่ลงในบล็อกเชน และบันทึกรักษาข้อมูลภายในบล็อกเชน
Validator หนึ่งคนจาก Validator ทั้งหมดจะถูกสุ่มเลือกมาเพื่อทำหน้าที่สร้างบล็อกใหม่ โดยผู้ที่ถูกเลือกจะสร้างบล็อกและเผยแพร่ไปยังเครือข่ายทั้งหมด เพื่อให้ Validator คนอื่นๆ อนุมัติหรือปฏิเสธบล็อกที่สร้างขึ้นมาใหม่นี้
ในบล็อกเชน Ethereum Validator ทั้งหมดจะแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ เพื่อประมวลผลหลายบล็อกพร้อมๆ กันเพื่อเพิ่มความเร็วในการยืนยันธุรกรรม โดยกระบวนการที่ Validator ต้องเห็นตรงกันในสถานะของบล็อกเชน เรียกว่าฉันทามติ (Consensus)
นอกจากนี้ยังมีบล็อกเชนแบบ Delegated Proof-of-Stake (DPoS) ที่ผู้ใช้เครือข่ายจะลงคะแนนเลือกตัวแทนเพื่อยืนยันบล็อกใหม่ ทำให้ DPoS มีการยืนยันธุรกรรมที่เร็วกว่า PoS ปกติ เนื่องจาก Validator มีจำนวนน้อยลงแต่ยังสามารถรักษาการกระจายอำนาจไว้อยู่ และผู้ที่ถูกเลือกจะแบ่งรางวัลที่ได้รับในการยืนยันบล็อกให้กับผู้ที่โหวตเลือกมา
การทำงานของ Validator ในระบบ Proof-of-Authority (PoA)
กลไกฉันทามติ PoA ประกอบด้วย Validator จำนวนไม่มากที่ได้รับการแต่งตั้ง โดยมีหน้าที่ในการสร้างบล็อกใหม่และรักษาความถูกต้องของเครือข่าย เหมาะสำหรับบล็อกเชนแบบส่วนตัว (private blockchain) หรือองค์กรที่ต้องการความเชื่อถือและไม่ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจ
การเข้าร่วมในเครือข่าย PoA ในฐานะ Validator โดยทั่วไปจะต้องมีการยืนยันตัวตนบนบล็อกเชน และอาจจะต้องมีคอนเนคชั่นบางอย่างกับผู้ที่สร้างบล็อกเชนนั้น หลังจากเข้าร่วมแล้ว Validator จะได้รับความไว้วางใจในการยืนยันธุรกรรมและเพิ่มบล็อกลงในบล็อกเชน
ความแตกต่างระหว่าง Miner (นักขุด) และ Validator
ในบล็อกเชนแบบ PoW เช่นบิตคอยน์ นักขุดจะเป็นผู้ที่มีหน้าที่ในการยืนยันและเพิ่มธุรกรรมลงในบล็อกเชนผ่านการขุด ขณะที่โหนดจะทำหน้าที่เป็น Validator โดยการยืนยันธุรกรรมและบล็อกโดยไม่มีส่วนร่วมในการขุด ขณะที่ Validator ในระบบที่ใช้การ Stake (PoS) จะยืนยันธุรกรรมและสร้างบล็อกตามสัดส่วนของเหรียญที่ได้ stake ไว้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องขุด
ทั้งนักขุดและ Validator มีหน้าที่ในการยืนยันความถูกต้องของธุรกรรมและเพิ่มบล็อกลงในบล็อกเชน แต่หน้าที่และวิธีการทำงานจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภทของบล็อกเชนว่าเป็น PoS หรือ PoW
ในระบบ PoW นักขุดจะต้องแก้สมการคณิตศาสตร์ที่มีความซับซ้อนเพื่อเพิ่มบล็อกลงในบล็อกเชน การแก้สมการเหล่านี้ต้องใช้พลังการคำนวณมหาศาล ในขณะเดียวกันก็ต้องแข่งขันกับนักขุดคนอื่นๆ โดยนักขุดที่แก้สมการได้ก่อนจะได้เพิ่มบล็อกลงในบล็อกเชนและได้รับรางวัลเป็นสกุลเงินดิจิทัลและค่าธรรมเนียมธุรกรรม
ในส่วน Validator มีหน้าที่ในการยืนยันธุรกรรมในบล็อกเชนแบบ PoS และ PoA ในบล็อกเชนแบบ PoS เช่น Ethereum, Validator จะถูกเลือกตามจำนวนเหรียญที่ได้ stake ไว้ถ้ามีเหรียญที่ stake ไว้มากก็จะมีโอกาสถูกเลือกมาก
Reference : Cointelegraph