ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) หนึ่งในความรับผิดชอบหลักของหน่วยงานนี้คือการจัดการอัตราดอกเบี้ยของประเทศ ซึ่งควบคุมค่าใช้จ่ายในการกู้ยืมเงิน อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำทำให้เงินที่ใช้ในการกู้ยืมถูกลง กู้ยืมง่ายขึ้นสามารถเพิ่มสภาพคล่องทางเศรษฐกิจและกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุน

ในทางกลับกัน การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจะลดการกู้ยืม เนื่องจากต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้น ทำให้ปริมาณเงินที่ไหลในระบบเศรษฐกิจลดลงและชะลอเศรษฐกิจ ซึ่งมีประโยชน์ในการควบคุมเงินเฟ้อ

ราคาสินทรัพย์ต่างๆ เช่น หุ้น พันธบัตร หรือแม้กระทั่งสกุลเงินดิจิทัล มักจะตอบสนองในทางตรงกันข้ามกับอัตราดอกเบี้ย หากอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ราคาสินทรัพย์ส่วนใหญ่จะลดลง และในทางกลับกัน หากอัตราดอกเบี้ยต่ำลง ราคาสินทรัพย์ส่วนใหญ่จะสูงขึ้น ซึ่งสินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูงเช่นสกุลเงินดิจิทัลก็เช่นกัน

ในทางเศรษฐศาตร์ เมื่อลดอัตราดอกเบี้ย ธนาคารจะให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำลง ทำให้นักลงทุนมักจะมองหาสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น เช่น สินทรัพย์การลงทุนและคริปโทเคอร์เรนซี เพื่อหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ความต้องการที่เพิ่มขึ้นนี้สามารถผลักดันราคาคริปโทฯให้สูงขึ้น

และในทางกลับกัน การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยทำให้สินทรัพย์ปลอดภัย เช่น การฝากเงินและพันธบัตรมีความน่าสนใจมากขึ้น ทำให้นักลงทุนออกจากการลงทุนที่มีความเสี่ยงเช่นคริปโทฯ และอาจทำให้ราคาลดลง โดยผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยจะชัดเจนเป็นพิเศษในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง คริปโทฯที่มีความผันผวนและไม่มีพื้นฐานที่ชัดเจน จะไวต่อการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเป็นพิเศษ

.

ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราดอกเบี้ยและ Cryptocurrency

บิตคอยน์ (BTC) ซึ่งเป็นคริปโทเคอร์เรนซีที่มีมูลค่าตลาดมากที่สุด มีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed แม้ว่าความสัมพันธ์จะไม่เป็นแบบเดิมทุกครั้ง แต่แนวโน้มในอดีตแสดงให้เห็นถึงผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของบิตคอยน์ และยังส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังตลาดคริปโทฯ NFTs และ DeFi

ปี 2018

ภายใต้การนำของ Janet Yellen ในฐานะประธาน Fed ณ เวลานั้น มีการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาเดียวกันกับที่บิตคอยน์ราคาลดลงอย่างมาก จากจุดสูงสุดเกือบ 20,000 ดอลลาร์ในเดือนธันวาคม 2017 ราคาบิตคอยน์ลดลงเหลือประมาณ 3,200 ดอลลาร์ภายในเดือนธันวาคม 2018 ซึ่งเป็นการลดลงมากกว่า 80%

และเมื่อราคาของบิตคอยน์ลดลง ราคาคริปโทเคอร์เรนซีทั้งหมดก็ลดลงด้วย แม้ว่าปัจจัยอื่นๆ เช่น เหตุการณ์แฮ็ก Exchange และความไม่แน่นอนด้านกฎระเบียบจะมีบทบาท แต่อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดขาลงครั้งนี้

ปี 2021

ในเวลานั้นเป็นช่วงการระบาดของ covid-19 ธนาคารกลางสหรัฐฯกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่บิตคอยน์พุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (All time high) ที่ประมาณ 68,000 ดอลลาร์ในเดือนพฤศจิกายน 2021

แต่หลังจากนั้น Fed ก็เปลี่ยนแปลงท่าทีเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยและนโยบายการเงินในปลายปี 2021 ด้วยความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ Fed มีความตั้งใจที่จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยและลดความร้อนแรงในระบบเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงนโยบายนี้กระตุ้นให้เกิดการปรับฐานในตลาดคริปโทฯในเดือนถัดๆ มา และภายในเดือนมิถุนายน 2022 บิตคอยน์มูลค่าลดลงกว่า 70% ราคาต่ำกว่า 20,000 ดอลลาร์อีกครั้ง

.

ทำไมอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นถึงมีผลกระทบต่อ Cryptocurrency

นักลงทุนลดความเสี่ยงลง

ตามที่บอกไว้ก่อนหน้านี้ การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยทำให้สินทรัพย์ปลอดภัย เช่น เงินฝากและพันธบัตรน่าสนใจมากขึ้น นักลงทุนอาจไม่เต็มใจที่จะเสี่ยงกับคริปโทฯที่มีความผันผวน ในเมื่อสามารถได้รับผลตอบแทนจากดอกเบี้ยเงินฝากและพันธบัตรรัฐบาลที่มีความเสี่ยงต่ำ ด้วยเหตุนี้ความต้องการในคริปโทฯจึงลดลง และราคาก็ลดลง

ค่าเสียโอกาส

เมื่ออัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น เมื่อเราเลือกที่จะถือเหรียญคริปโทฯแทนที่จะเลือกฝากเงินหรือลงทุนในพันธบัตรที่อาจมีผลตอบแทนที่ดีกว่าในขณะนั้น จะทำให้เกิดต้นทุนค่าเสียโอกาส (ผลตอบแทนที่เราพลาดโอกาสไป จากการที่เราไม่ได้เลือกทางเลือกที่ดีที่สุด)

Margin call และดอกเบี้ยจากการกู้ยืม

ตลาดคริปโทฯเฟื่องฟูขึ้นมาจากการใช้เลเวอเรจ ซึ่งเป็นการที่นักลงทุนกู้ยืมเงินมาลงทุน เพื่อเพิ่มผลกำไรที่เป็นไปได้ แต่การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของ Fed ทำให้การกู้ยืมมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น (ดอกเบี้ย) และในช่วงขาลง นักลงทุนอาจโดน margin call ทำให้นักลงทุนต้องขายคริปโทฯที่ลงทุนมาชำระหนี้ ซึ่งการบังคับขายนี้สามารถทำให้ราคาคริปโทฯลดลงอย่างมาก

ตัวอย่างการบังคับขายที่เป็นข่าวดังก็อย่างเช่น Celsius และ FTX ที่ทำให้ทั้ง 2 บริษัทนี้ล้มละลาย และส่งผลกระทบต่อราคาคริปโทเคอร์เรนซีอย่างรุนแรง

Reference : Cointelegraph