เมื่อปี 2008 ได้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินที่สั่นสะเทือนเศรษฐกิจโลก และ 16 ปีที่ผ่านมานี้ ผู้คนก็เกิดความสงสัยว่าโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนั้นมีมากน้อยแค่ไหน และคำถามที่สำคัญกว่านั้นคือเราจะสามารถหลีกเลี่ยงวิกฤตเศรษฐกิจรูปแบบนี้ได้อย่างไรในอนาคต

จุดเริ่มต้นจากวิกฤติซับไพรม์ ลุกลามกลายเป็นวิกฤติการณ์ทางการเงินระดับโลกและภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ หลายคนได้ตั้งคำถามถึงเสถียรภาพและความโปร่งใสในระบบธนาคารทั่วโลกที่เราต้องพึ่งพิง

.

เกิดอะไรขึ้นในปี 2008

วิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2008 ถือเป็นภัยพิบัติทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์ Great Depression ในปี 1929 เหตุการณ์ในปี 2008 ได้ทำลายเศรษฐกิจของโลก และส่งผลให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ (Great Recession) ซึ่งทำให้ราคาอหังสาริมทรัพย์ลดลงและอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงผลกระทบอื่นๆอีกมหาศาล ซึ่งได้มีอิทธิพลต่อระบบการเงินจนมาถึงทุกวันนี้

ในสหรัฐอเมริกา พลเมืองมากกว่าแปดล้านคนตกงาน ธุรกิจกว่า 2 ล้านแห่งเสียหาย และบ้านเกือบ 4 ล้านหลังถูกยึดในเวลาไม่ถึง 2 ปี ความเสียหายที่เกิดขึ้นทำให้ผู้คนอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก หลายคนได้สูญเสียความเชื่อมั่นในระบบ

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการในปี 2009 แต่ก็มีคนจำนวนมากที่ยังคงต้องฟื้นตัวจากความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเวลานาน ในสหรัฐมีอัตราการว่างงานสูงถึง 10% ในปี 2009 และลดลงมาสู่ระดับก่อนที่จะเกิดวิกฤตในปี 2016

.

ทำไมถึงเกิดเหตุการณ์นี้ ?

สาเหตุของวิกฤตในปี 2008 มีความซับซ้อนมาก ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัยประกอบกัน แต่สาเหตุหนึ่งมาจากการที่สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสินเชื่อจำนอง ที่เป็นฟางเส้นสุดท้ายทำให้เกิดรอยร้าวในระบบการเงิน ตามมาด้วยการล้มละลายของสถาบันการเงินอย่างเลห์แมน บราเธอร์ส ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอเมริกาและยุโรป รวมถึงการล้มละลายของบริษัทอื่นๆทั่วโลกที่มีความเชื่อมโยงกับอเมริกา และกลับกัน เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้คนตระหนักถึงข้อบกพร่องที่ธนาคารอาจก่อขึ้น

.

ทำไมเหตุการณ์นี้ถึงสำคัญ ?

แม้ว่าวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งนี้จะผ่านมาเป็นสิบปีแล้ว แต่ยังคงมีความกังวลหลงเหลืออยู่ ผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอยยังคงมีอยู่ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังค่อนข้างอ่อนแอเมื่อเทียบกับมาตรฐานในอดีต มีการเสนอขายสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงอีกครั้ง ถึงแม้อัตราการผิดนัดชำระหนี้ในปัจจุบันจะอยู่ในระดับต่ำ แต่สถานการณ์ต่างๆก็เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วอยู่แล้ว

หน่วยงานกำกับดูแลของรัฐยืนยันว่าระบบการเงินทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ปี 2008 แล้ว และมาตรการด้านความปลอดภัยได้รับการปรับปรุงดีขึ้นมาก ด้วยเหตุนี้หลายๆคนจึงเชื่อมั่นว่าระบบการเงินโลกในปัจจุบันมีความเข้มแข็งมากกว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

แต่มีคนเห็นด้วยก็ต้องมีคนที่ไม่เห็นด้วย บางคนยังมีความสงสัยอยู่ว่าวิกฤตเศรษฐกิจแบบนี้จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่? คำตอบสั้นๆคือ ใช่ เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงมากมายและมีการบังคับใช้กฎใหม่ แต่ปัญหาพื้นฐานก็ยังคงอยู่ นั่นคือ มนุษย์

จุดที่น่าสังเกตของวิกฤติการณ์ทางการเงินในปี 2008 คือมันแสดงให้เห็นว่านโยบายมีความสำคัญขนาดไหน เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดมาจากการตัดสินใจของหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐ นักการเมือง และผู้กำหนดนโยบายในยุคก่อน

.

การมาของ Bitcoin และ Cryptocurrency

ในขณะที่วิกฤตการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นในปี 2008 เน้นย้ำให้เห็นถึงความเสี่ยงบางอย่างของระบบการเงินแบบดั้งเดิม แต่ในปี 2008 ยังเป็นปีเกิดของบิตคอยน์ ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลตัวแรกของโลก

บิตคอยน์มีลักษณะตรงกันข้ามกับสกุลเงินทั่วไปอย่างเช่น ดอลลาร์สหรัฐหรือปอนด์ บิตคอยน์และสกุลเงินดิจิทัลบางตัวนั้นมีการกระจายอำนาจ ซึ่งหมายความว่าสกุลเงินดิจิทัลเหล่านี้จะไม่ถูกควบคุมโดยรัฐบาลหรือธนาคาร การสร้างเหรียญสกุลเงินดิจิทัลหนึ่งๆจะถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าโดยโปรโตคอล

โปรโตคอลของบิตคอยน์และอัลกอริธึม Proof of Work ช่วยให้มั่นใจได้ว่าการสร้างสกุลเงินดิจิทัลใหม่ๆเป็นไปตามแผนการ โดยเฉพาะบิตคอยน์ที่มีกระบวนการที่เรียกว่าการขุด นักขุดมีหน้าที่สร้างเหรียญใหม่เข้ามาสู่ระบบ รวมถึงการรักษาความปลอดภัยของเครือข่ายด้วยตรวจสอบและยืนยันธุรกรรม

นอกจากนี้เครือข่ายบิตคอยน์ยังมีการกำหนดอุปทานสูงสุดหรือจำนวนเหรียญสูงสุดที่บิตคอยน์จะถูกสร้างขึ้นมาได้ที่จำนวน 21 ล้านเหรียญซึ่งหมายความว่าจำนวนบิตคอยน์จะไม่มีการเฟ้อท่วมตลาดจนไม่เหลือมูลค่าทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึง source code ของบิตคอยน์ก็เป็นแบบ open-source ดังนั้นๆใครก็สามารถตรวจสอบและมีส่วนร่วมในการพัฒนาบิตคอยน์ได้

Reference : Binance Academy