ทำไมบิตคอยน์ใช้พลังงานปริมาณมาก?
บิตคอยน์ใช้พลังงานระดับที่สามารถหล่อเลี้ยงประเทศเล็กๆประเทศหนึ่งได้ นี่คือข้อเท็จจริงของบิตคอยน์ และเป็นข้อเท็จจริงที่มีคนพูดโจมตีบิตคอยน์อยู่บ่อยๆ เป็นเรื่องจริงที่บิตคอยน์ใช้พลังงานจำนวนมากแต่บิตคอยน์ไม่ได้ใช้พลังงานไปอย่างสูญเปล่า บทความนี้จะบอกเหตุผลว่าทำไมบิตคอยน์ต้องใช้พลังงานจำนวนมาก แล้วได้อะไรตอบแทนจากพลังงานนั้น
บิตคอยน์ใช้พลังงานไปกับสิ่งใด
บิตคอยน์ถูกสร้างมาเพื่อเป็นเงินดิจิทัลที่ไร้ศูนย์กลาง ที่ต่างจากเงินในบัญชีธนาคารหรือต่างจากบัตรเครดิตการ์ดต่างๆ การที่บิตคอยน์จะตัดคนกลางที่คอยตรวจสอบออกไป บิตคอยน์ต้องให้คนที่อยู่บนเครือข่ายบิตคอยน์ ต่างคนต่างตรวจสอบกันเอง ด้วยการอาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชน โดยระยะเริ่มแรกคนๆหนึ่งจะมีหน้าที่ 3 อย่างด้วยกันคือ โนด (Node) , การขุด(Mining) และเป็นผู้ใช้งาน แต่ตอนหลังทั้ง 3 นี้ก็แยกจากกัน (ผู้ที่จะเป็นโนดไม่จำเป็นต้องเป็นนักขุด ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องเป็นโนดและเป็นนักขุด) ซึ่งกระบวนการที่ใช้พลังงานไปมากที่สุดคือการขุด
การขุดทำเพื่อบันทึกข้อมูลธุรกรรมลงในบล็อกเชนและสร้างบิตคอยน์ใหม่เพิ่มเข้ามาในระบบ ซึ่งนักขุดก็มีจำนวนมากแล้วจะให้ใครบันทึกข้อมูลธุรกรรมลงในบล็อก? เพื่อแก้ปัญหานี้ บิตคอยน์จึงใช้วิธีการ Proof of work
Proof of work คือการพิสูจน์ว่าคนที่จะมีหน้าที่ในการบันทึกข้อมูลและสร้างเหรียญใหม่ขึ้นมาต้องทำงานแล้วจริงๆ ซึ่งการทำงานที่ว่าก็คือการนำคอมพิวเตอร์มาประมวลผลหาคำตอบสมการทางคณิตศาสตร์ที่บิตคอยน์สร้างขึ้นมา ซึ่งผู้ที่ใช้กำลังประมวลผลหาคำตอบออกมาได้ก่อน จะได้เป็นผู้บันทึกข้อมูลในรอบ 10 นาทีนั้น แล้วได้รางวัลเป็นบิตคอยน์
ซึ่งการนำกำลังประมวลผลมาแข่งกันแก้สมการนี้เอง ที่ทำให้บิตคอยน์ใช้พลังงานไปมาก เพราะสมการมีความยากสูงมากระดับที่นักขุดทั้งโลกแข่งกันแล้วมีคนถูกแค่คนเดียว แล้วทำไมต้องใช้พลังงานไปแก้สมการอะไรแบบนี้ ทำไมไม่ทำให้ง่ายๆไม่เปลืองไฟ? เป็นเพราะว่ายิ่งบิตคอยน์มีต้นทุนที่สูงก็ยิ่งยากต่อการถูกทำลาย และทำให้บิตคอยน์เป็นเงินที่มีต้นทุนไม่ได้สร้างขึ้นมาลอยๆ
ผลตอบแทนจากการใช้พลังงาน : ความคงทน
คริปโทเคอร์เรนซีที่ใช้ระบบ Proof of work มีการโจมตีรูปแบบหนึ่งซึ่งเป็นวิธีที่จะสามารถสร้างความเสียหายทางการเงิน และทำลายความเชื่อมั่นของเหรียญที่โดนโจมตีได้ เรียกว่า 51% attack ซึ่งเป็นการโจมตีเครือข่ายบล็อกเชนที่เกิดขึ้นโดยที่มีบุคคลหรือองค์กรใดสามารถควบคุมกำลังประมวลผลส่วนใหญ่หรือมากกว่า 50% ของเครือข่าย จนทำให้เครือข่ายเกิดความยุ่งเหยิงหรือเกิดความเสียหาย ผู้โจมตีจะมีกำลังประมวลผลมากพอที่จะดัดแปลงธุรกรรมหรือทำเหมือนธุรกรรมไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
อย่างเช่นทำการโอนบิตคอยน์เข้า Exchange เพื่อนำไปขายเป็น USD แล้วไปทำการแก้ไขบล็อกเชนว่าการทำธุรกรรมนั้นไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหรือแก้ไขว่าโอนบิตคอยน์เข้ากระเป๋าตัวเองแทน ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการใช้เงินซ้ำซ้อนและสร้างความเสียหายด้านการเงินให้กับคนที่โดน
ดังนั้นบิตคอยน์จึงต้องสร้างสมการทางคณิตศาสตร์ที่มีความยากมากพอ ที่จะทำให้คนที่หวังจะโจมตีต้องใช้กำลังประมวลผลจำนวนมาก ต้นทุนจำนวนมาก พลังงานจำนวนมาก เพื่อจะทำลายบิตคอยน์ ซึ่งสมการที่สร้างมาจะถูกกำหนดให้ใช้เวลาประมาณ 10 นาทีในการแก้
สมมติว่าคนที่จะใช้ 51 % attack แก้ไขธุรกรรมที่ถูกบันทึกไปแล้วในบล็อกก่อนหน้า คนๆนั้นต้องแก้สมการให้เสร็จก่อนภายในไม่ถึง 5 นาที เพราะว่าต้องแก้ไขของบล็อกก่อนหน้าแล้วก็แก้ไขของบล็อกปัจจุบันที่นักขุดคนอื่นๆกำลังแก้กันอยู่ด้วย ถ้าทำบล็อกก่อนหน้าสำเร็จ แต่ทำบล็อกปัจจุบันไม่ทันก็ถือว่าการแก้ไขที่ทำมานั้นไม่เคยเกิดขึ้น เพราะบิตคอยน์จะยึดบล็อกเชนที่ยาวที่สุดเป็นความจริง (51% attack ไม่สามารถแก้ไขธุรกรรมของผู้ใช้งานคนอื่น, ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง block reward, ไม่สามารถเสกเหรียญ และไม่สามารถขโมยเหรียญที่ไม่ใช่ของตัวเองได้)
แล้วการที่จะแก้ไขบล็อกให้ทันนั้นแทบเป็นไปไม่ได้และไม่คุ้มที่จะทำ เพราะตอนนี้กำลังประมวลผลของบิตคอยน์เท่ากับ 226.38 EH/s (226 ตามด้วยเลข 0 อีก 18 ตัว) ในขณะที่เครื่องขุดที่แรงที่สุดในตอนนี้มีกำลังประมวลอยู่ที่ 110 TH/s (110 แล้วตามด้วยเลข 0 อีก 12 ตัว) กำลังไฟฟ้าที่บิตคอยน์กำลังใช้อยู่มีถึง 204.5 TWh ซึ่งเท่ากับการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยทั้งประเทศ การจะทำ 51% Attack ต้องใช้เครื่องขุดจำนวนมาก และหาสถานที่วางเครื่อง รวมถึงแหล่งไฟฟ้าที่สามารถจ่ายไฟได้ระดับเดียวกับการจ่ายให้ทั้งประเทศ ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงเกินกว่าจะมีใครมาทำลายบิตคอยน์ได้
ผลตอบแทนจากการใช้พลังงาน : นำพลังงานมาเปลี่ยนเป็นเงิน
สมมติว่าเราที่เป็นประชาชนธรรมดา แล้วมีต้นทุนมากพอที่จะสร้างแหล่งพลังงานหมุนเวียนอย่างเช่นโซลาเซลล์ แล้วพลังงานนั้นสามารถใช้งานภายในบ้านได้อย่างเหลือเฟือ พลังงานที่เหลือใช้จะต้องทำอย่างไร ทางเลือกหนึ่งก็คือลงทุนในเครื่องขุดบิตคอยน์ ที่เมื่อเครื่องขุดคืนทุนแล้ว สิ่งที่เราทำได้เปรียบเสมือนนำพลังงานเปลี่ยนไปเป็นเงินที่มีคงทนและเก็บรักษาได้โดยที่ไม่รั่วไหลไปไหน หรือแม้แต่สเกลใหญ่ระดับประเทศอย่างองค์กรวิสาหกิจ ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้ามหาศาล ก็ได้รับผลประโยชน์จากการที่คนหันมาขุดบิตคอยน์มากขึ้น ซึ่งการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน
Referrence
https://www.youtube.com/watch?v=Mv8x1T5lI00&t=2998s
The Bitcoin Standard – Saifedean Ammous