กระทรวงการคลังของไทยประกาศแผนออกพันธบัตรดิจิทัล (G-tokens) มูลค่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5,200 ล้านบาท เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนรายย่อยเข้าถึงการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลได้ง่ายขึ้น โดยเริ่มต้นลงทุนเพียง 100 บาท เท่านั้น

นาย พิชัย จุนหะวิจารณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่าโครงการนี้จะเริ่มเปิดตัวภายใน 2 เดือนข้างหน้า หลังได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี โดยจะเป็นการทดลองตลาดเพื่อทดสอบความสนใจของนักลงทุน

นาย พชร อนันตศิลป์ อธิบดีสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กล่าวเสริมว่า G-tokens จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการระดมทุนจากประชาชนภายใต้แผนการกู้ยืมงบประมาณปัจจุบัน แต่โทเค็นเหล่านี้ ไม่ถือเป็นตราสารหนี้

“ข้อดีของ G-tokens คือเปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้มีส่วนร่วมกับการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องมีเงินก้อนใหญ่ ก็สามารถเข้าถึงได้” พัชรกล่าว

โอกาสการลงทุนใหม่สำหรับคนไทย

ที่ผ่านมา การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลมักจะถูกจำกัดไว้ให้กับนักลงทุนรายใหญ่หรือสถาบันการเงิน ทำให้คนทั่วไป ไม่สามารถเข้าถึงการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยเหล่านี้ได้

สำหรับ G-tokens นี้ จะช่วยเพิ่มช่องทางการลงทุนให้กับคนไทยทั่วไป โดยไม่ต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ทั้งยังได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ 1.25% ต่อปี สำหรับเงินฝากประจำ 12 เดือน

พันธบัตรดิจิทัล ไม่ใช่คริปโตเคอเรนซี

รายงานจาก Bangkok Post ระบุว่า G-tokens ไม่ใช่คริปโตเคอเรนซี แต่จะเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่สามารถซื้อขายได้บนแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาต ซึ่งจำกัดให้เฉพาะผู้ถือสัญชาติไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศเท่านั้น

พันธบัตรรัฐบาลคือเครื่องมือการลงทุนในรูปแบบการกู้ยืมเงินจากประชาชน ซึ่งรัฐบาลจะจ่ายดอกเบี้ยให้ตามระยะเวลาที่กำหนดและคืนเงินต้นเมื่อครบกำหนด

มูลค่าพันธบัตรดิจิทัลทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น

ข้อมูลจาก RWA.xyz ระบุว่า ในระดับโลก มูลค่าพันธบัตรที่ถูกแปลงเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลมีมูลค่ารวม 225 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 100% ตั้งแต่ต้นปี 2025

อย่างไรก็ตาม พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ถูกโทเค็น มีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 73% ในปีนี้ โดยมีมูลค่ารวมกว่า 6.9 พันล้านดอลลาร์

สำหรับประเทศไทย การออก G-tokens ในครั้งนี้นับเป็นก้าวแรกในการ เปิดประตูสู่การลงทุนในรูปแบบดิจิทัล ที่เข้าถึงได้ง่ายและสะดวกขึ้น หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ อาจเป็นการปูทางไปสู่การออกสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทอื่น ๆ ของรัฐบาลไทยในอนาคต

Reference : Cointelegraph