จากรายงานของสหประชาชาติ พบว่าก๊าซมีเทนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 80 เท่า ภายในระยะเวลา 20 ปีหลังจากถูกปล่อยออกมา ซึ่งถือเป็นปัญหาที่ต้องเร่งจัดการ

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา วารสาร Journal of Cleaner Production ได้เผยแพร่งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าการขุดบิตคอยน์อาจเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาก๊าซมีเทนได้ งานวิจัยนี้อธิบายว่า นักขุดบิตคอยน์สามารถใช้ประโยชน์จากระบบ Landfill Gas to Energy (LFGTE) ซึ่งเป็นการนำก๊าซมีเทนจากหลุมฝังกลบขยะมาเปลี่ยนเป็นพลังงานที่ใช้งานได้ นอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย

จุดเด่นของการขุดบิตคอยน์ที่มีแรงจูงใจทางเศรษฐกิจสูงนั้น ทำให้นักวิจัยมองว่ามันเป็นโครงการระยะยาวที่เอกชนทั่วไปอาจไม่สามารถทำได้เนื่องจากปัญหาด้านต้นทุน แต่การขุดบิตคอยน์สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืนในทุกพื้นที่ทั่วโลก โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสิ่งจูงใจจากรัฐบาล ทำให้สามารถนำไปปรับใช้ได้ในวงกว้างและรวดเร็ว

นอกจากนี้ นักวิจัยยังตั้งข้อสังเกตว่า ระบบแรงจูงใจนี้ไม่จำกัดเฉพาะการลดก๊าซมีเทนเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปใช้รีไซเคิลพลังงานที่ถูกทิ้งจากแหล่งอื่นๆ เช่น บ่อน้ำมันและก๊าซร้าง โรงบำบัดน้ำเสีย รวมถึงฟาร์มและโรงงานแปรรูปการเกษตร

Marathon Digital ลงทุนใน LFGTE

ในปี 2023 บริษัท Marathon Digital (MARA) ได้จับมือกับ Nodal Power ขุดบิตคอยน์โดยใช้ก๊าซมีเทนจากหลุมฝังกลบในรัฐยูทาห์ โครงการนี้เริ่มต้นด้วยกำลังการผลิตไฟฟ้า 280 กิโลวัตต์

ซึ่ง Fred Thiel ประธานและ CEO ของ Marathon Digital กล่าวถึงการลงทุนนี้ว่า “เรากำลังมองหาวิธีการใหม่ๆ ในการกระจายการดำเนินงาน ลดต้นทุนพลังงาน และใช้ประโยชน์จากการขุดบิตคอยน์เพื่อช่วยสิ่งแวดล้อมที่เราทำงานอยู่”

งานวิจัยอื่นๆ ที่สนับสนุนแนวคิดนี้

งานวิจัยจาก Journal of Cleaner Production ไม่ใช่งานชิ้นแรกที่กล่าวถึงการใช้การขุดบิตคอยน์เพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทน ในปี 2023 สถาบัน Institute of Risk Management ได้เผยแพร่งานวิจัยที่ระบุว่า การขุดบิตคอยน์สามารถลดการปล่อยก๊าซทั่วโลกลงได้ประมาณ 8% ภายในปี 2030

Reference : Cointelegraph