ภาวะเงินฝืด หมายถึง การลดลงของราคาสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องดี เพราะทำให้เงินที่เรามีสามารถซื้อของได้มากขึ้น แต่ในบางกรณี มันก็อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในทางลบได้เช่นกัน
ถึงแม้ว่าภาวะเงินฝืดที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก โดยทั่วไป ระบบการเงินของเรามีแนวโน้มที่จะเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อมากกว่า แต่ถ้าหากเราต้องเผชิญกับภาวะเงินฝืดที่ยาวนาน การเข้าใจถึงผลกระทบด้านลบของมันจะเป็นประโยชน์อย่างมาก
.
สาเหตุทั่วไปของภาวะเงินฝืด
1. ความต้องการซื้อในภาพรวมลดลง
เมื่อผู้คนและธุรกิจใช้จ่ายเงินน้อยลง ความต้องการสินค้าก็จะลดลง ซึ่งมักจะนำไปสู่การลดลงของราคา
2. การผลิตที่มากกว่าความต้องการ
หากธุรกิจผลิตสินค้ามากกว่าความต้องการของตลาด อุปทานส่วนเกินก็จะทำให้ราคาลดลง ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทำให้การผลิตถูกลงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาจนำไปสู่ภาวะนี้ได้
3. ค่าเงินแข็งค่า
เมื่อค่าเงินของประเทศแข็งค่า จะทำให้สามารถซื้อสินค้าจากต่างประเทศได้ในราคาถูกลง ส่งผลให้ราคาสินค้าในประเทศลดลงตามไปด้วย นอกจากนี้ ค่าเงินแข็งค่ายังทำให้สินค้าส่งออกมีราคาสูงขึ้นสำหรับประเทศอื่นๆ ซึ่งทำให้ความต้องการสินค้าส่งออกลดลง
.
เปรียบเทียบระหว่างเงินฝืดกับเงินเฟ้อ
ทั้งภาวะเงินฝืดและเงินเฟ้อล้วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ แต่สาเหตุและผลกระทบของทั้งสองนั้นแตกต่างกันอย่างชัดเจน
คำนิยาม
ภาวะเงินฝืดหมายถึงการลดลงของราคาสินค้าและบริการในภาพรวม ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อหมายถึงการเพิ่มขึ้นของราคา ภาวะเงินฝืดทำให้กำลังซื้อของเงินที่เรามีอยู่เพิ่มขึ้น แต่ภาวะเงินเฟ้อทำให้กำลังซื้อของเงินที่เรามีลดลง
สาเหตุ
ภาวะเงินฝืดมักเกิดจากการลดลงของความต้องการในภาพรวม การเพิ่มขึ้นของอุปทาน หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ในขณะที่ภาวะเงินเฟ้ออาจเกิดจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น หรือการขยายตัวของนโยบายการเงิน ซึ่งในความเป็นจริงมักเกิดจากหลายปัจจัยรวมกัน
ผลกระทบ
ผลกระทบของเงินฝืด
ในช่วงที่เกิดภาวะเงินฝืด ราคาสินค้าจะค่อยๆ ลดลง และค่าเงินจะมีความแข็งค่าขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะออมเงินมากขึ้นและชะลอการใช้จ่าย ซึ่งอาจนำไปสู่การหยุดชะงักทางเศรษฐกิจและอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น
ผลกระทบของเงินเฟ้อ
เงินเฟ้อทำให้มูลค่าของเงินลดลง ส่งผลให้ผู้คนรีบใช้จ่ายก่อนที่ราคาจะสูงขึ้นไปอีก สร้างความไม่แน่นอนและความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ
.
วิธีการจัดการกับภาวะเงินฝืด
แม้ว่าภาวะเงินเฟ้อมักถูกมองเป็นเรื่องน่ากังวลมากกว่า แต่ภาวะเงินฝืดก็สามารถสร้างปัญหาได้เช่นกัน ญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างของประเทศที่เคยประสบกับภาวะเงินฝืดต่ำแต่ยาวนาน ธนาคารกลางมักตั้งเป้าให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำๆ ประมาณ 2% ต่อปี เพื่อให้เศรษฐกิจเคลื่อนไหวได้อย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งในการรับมือกับภาวะเงินฝืด รัฐบาลและธนาคารกลางสามารถใช้ทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง
นโยบายการเงิน
ธนาคารกลางสามารถลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นการกู้ยืมและการใช้จ่าย การลดอัตราดอกเบี้ยทำให้ธุรกิจและผู้บริโภคสามารถกู้เงินได้ในต้นทุนที่ถูกลง ซึ่งช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อีกทางเลือกหนึ่งคือการดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing – QE) ซึ่งเป็นการเพิ่มปริมาณเงินในระบบและกระตุ้นการใช้จ่าย
นโยบายการคลัง
มาตรการทางการคลังอาจรวมถึงการเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นความต้องการในระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การลดภาษีก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะเพิ่มรายได้ที่สามารถใช้จ่ายได้ของผู้บริโภคและธุรกิจ ส่งผลให้ผู้คนมีแรงจูงใจในการใช้จ่ายและลงทุนมากขึ้น
.
ข้อดีของภาวะเงินฝืด
สินค้าราคาถูกลง : ในช่วงภาวะเงินฝืด มูลค่าของเงินเพิ่มขึ้น ทำให้สินค้าต่างๆ มีราคาถูกลง และช่วยยกระดับมาตรฐานการครองชีพ
ต้นทุนธุรกิจลดลง : ธุรกิจสามารถลดค่าใช้จ่ายในการจัดหาวัสดุหรือวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต
การออมเพิ่มขึ้น : เมื่อมูลค่าของเงินเพิ่มขึ้น ผู้คนจะมีแนวโน้มที่จะออมเงินมากขึ้น
.
ข้อเสียของภาวะเงินฝืด
การใช้จ่ายลดลง : ภาวะเงินฝืดอาจทำให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อสินค้า เนื่องจากคาดหวังว่าราคาจะลดลงอีก ซึ่งจะทำให้ความต้องการสินค้าลดลงและอาจส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว
หนี้สินเพิ่มขึ้น : ในช่วงภาวะเงินฝืด มูลค่าของหนี้สินจะเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้กู้มีความยากลำบากในการชำระหนี้
อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น : ธุรกิจอาจตอบสนองต่อการลดลงของการใช้จ่ายของผู้บริโภคด้วยการลดต้นทุน ซึ่งมักหมายถึงการปลดพนักงานเป็นจำนวนมาก
Reference : Binance Academy