DPoS (Delegated Proof-of-Stake) เป็นระบบฉันทามติที่พัฒนาต่อยอดขึ้นมาจากฉันทามติแบบ Proof-of-Stake (PoS) ซึ่งออกแบบมาเพื่อเพิ่มความสามารถในการขยายขนาด, เพิ่มประสิทธิภาพ, และการกระจายอำนาจ

เทคโนโลยีบล็อกเชนได้เข้ามาปฏิวัติวิธีคิดและจัดการธุรกรรมดิจิทัล เพราะลักษณะส่วนตัวในการที่ไม่มีศูนย์กลางและกลไกฉันทามติของบล็อกเชน

เป้าหมายหลักของกลไกฉันทามติคือการรับรองว่าจะไม่มีการควบคุมจากศูนย์กลางในการจัดการธุรกรรมและข้อมูลของบล็อกเชน แต่กลไกฉันทามตินี้พึ่งพาผู้เข้าร่วมในเครือข่ายเพื่อยืนยันธุรกรรมและเพิ่มบล็อกใหม่ในเชนแทน

หนึ่งในกลไกฉันทามติที่ได้รับความนิยมคือ Delegated Proof-of-Stake (DPoS) ซึ่งเป็นการปรับปรุงจากกลไกฉันทามติแบบ Proof-of-Stake ดั้งเดิม

Daniel Larimer ได้เสนอแนวคิด DPoS ในปี 2014 เพื่อเป็นการปรับปรุงกลไก PoS ดั้งเดิมให้มีประสิทธิภาพและความสามารถในการปรับขนาดมากขึ้น Larimer ซึ่งนำไปสู่การใช้งานจริงของ DPoS ในการเปิดตัวของ BitShares ในปี 2015 นี่เป็นจุดเริ่มต้นของ DPoS ในเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งต่อมาได้ถูกนำไปใช้ในโปรเจ็กต์อื่นๆ เช่น Steem และ Eos

DPoS แตกต่างจาก PoS อย่างไร

DPoS แตกต่างจาก PoS แบบดั้งเดิม โดยการใช้ระบบการลงคะแนนเพื่อเลือกตัวแทนมาทำหน้าที่ตรวจสอบบล็อก ทำให้กระบวนการในบล็อกเชนมีความเป็นประชาธิปไตยและสามารถปรับขนาดได้มากขึ้น

กระบวนการเลือกตัวแทนนี้มีจุดประสงค์เพื่อแก้ไขข้อจำกัดบางประการของอัลกอริธึม PoS แบบปกติ โดยการรับรองว่าหน้าที่ในการยืนยันธุรกรรมจะถูกกระจายไปยังตัวแทนที่ได้รับการโหวต แทนที่จะกระจุกตัวอยู่ในมือของวาฬรายใหญ่ไม่กี่ราย

DPoS ทำงานอย่างไร?

กลไกหลักของ DPoS หมุนรอบการลงคะแนน, การมอบหมาย, และการตรวจสอบ

DPoS ปรับปรุงระบบ PoS แบบดั้งเดิม โดยการเพิ่มกลไกการโหวตตัวแทนที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจสอบและสร้างบล็อก กระบวนการนี้มีส่วนสำคัญ 4 อย่างคือ ผู้ลงคะแนน, ผู้สร้างบล็อก, ผู้แทน และผู้ตรวจสอบ

ผู้ลงคะแนน

ในระบบ DPoS ผู้เข้าร่วมเครือข่ายทุกคนที่ถือโทเค็นของเครือข่ายสามารถเป็นผู้ลงคะแนนได้ โดยไม่มีข้อกำหนดขั้นต่ำในการถือโทเค็น ผู้ลงคะแนนมีบทบาทสำคัญในระบบการปกครองของเครือข่าย และมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ

ผู้สร้างบล็อก

ผู้สร้างบล็อก คือโหนดที่ได้รับการโหวตจากผู้ถือโทเค็น เพื่อมาทำหน้าที่ยืนยันธุรกรรมและสร้างบล็อกใหม่ พวกเขามีบทบาทสำคัญในการทำงานของบล็อกเชน โดยการรับรองความถูกต้องและความสมบูรณ์ของข้อมูลธุรกรรม

ผู้แทน

ผู้มีส่วนร่วมในเครือข่ายโหวตเลือกผู้แทนมาเพื่อทำหน้าที่เสนอการปรับปรุงและการเปลี่ยนแปลงในเครือข่าย ข้อเสนอของพวกเขาต้องได้รับการลงคะแนนจากผู้เข้าร่วมเครือข่ายก่อนจึงจะสามารถนำไปใช้ได้ (คล้ายๆ ส.ส.ในสภาที่ทำหน้าที่เสนอร่างกฎหมายใหม่ๆ)

ผู้ตรวจสอบ

ผู้ตรวจสอบเป็นโหนดเต็มรูปแบบที่ตรวจสอบว่าบล็อกที่สร้างโดย “ผู้สร้างบล็อก” สอดคล้องกับกฎฉันทามติหรือไม่ ซึ่งผู้ใช้โดยทั่วไปก็สามารถเป็นผู้ตรวจสอบได้ แต่ว่าไม่มีค่าตอบแทนในการทำหน้าที่นี้

ข้อดีของ DPoS

ความสามารถในการเข้าถึง : DPoS ช่วยให้ทุกคนที่ถือโทเค็นสามารถเข้าร่วมในการลงคะแนนและเป็นผู้แทนได้

ความสามารถในการปรับขนาด : DPoS สามารถสร้างบล็อกได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ใช้พลังงานต่ำ : DPoS ไม่ต้องใช้พลังงานปริมาณมากเหมือนกับระบบ PoW

การปกครองแบบประชาธิปไตย : กระบวนการลงคะแนนทำให้ผู้แทนต้องรับผิดชอบต่อส่วนรวม และผู้ถือโทเค็นสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจได้

ข้อจำกัดของ DPoS

กระจายอำนาจน้อยลง : จำนวนผู้แทนที่ได้รับการโหวตมีจำกัด อาจทำให้กลุ่มผู้แทนบางกลุ่มสามารถควบคุมเครือข่ายได้

ผู้ลงคะแนนต้องมีส่วนร่วม : ระบบ DPoS คล้ายๆการเลือกตั้งในชีวิตจริงที่ต้องการให้ประชาชนออกมาเลือกตั้ง เพราะคนที่ได้รับการโหวตคือตัวแทนของผู้มีส่วนร่วมทั้งหมด

ความเสี่ยงด้านความปลอดภัย : หากผู้แทนส่วนใหญ่สมคบคิดหรือกระทำการไม่สุจริต อาจก่อให้เกิดการโจมตี 51% ที่สามารถลดความปลอดภัยของเครือข่ายได้

Reference : Cointelegraph