สิ่งที่บิตคอยน์ทำได้

ในฐานะของสกุลเงินหนึ่ง บิตคอยน์ได้แก้ไขปัญหาหลายอย่างที่สกุลเงินแบบดั้งเดิมเคยประสบพบเจอ เครือข่ายบิตคอยน์ช่วยให้การชำระเงินแบบเพียร์ทูเพียร์ (บุคคลสู่บุคคล) เป็นไปได้โดยไม่ต้องพึ่งพาบุคคลที่สามที่เชื่อถือได้

อีกทั้งยังแก้ปัญหา Byzantine Generals ด้วยการใช้กลไก Proof-of-Work และการจัดเก็บข้อมูลลงบนที่บันทึกข้อมูลแบบกระจายศูนย์ ทำให้สมาชิกทุกคนในเครือข่ายสามารถเห็นด้วยกับสถานะเดียวกันของบล็อกเชนได้

เทคโนโลยีของบิตคอยน์

เอกสารไวท์เปเปอร์ที่นำเสนอตัวบิตคอยน์และแนวทางแก้ไขปัญหาการเงินแบบเดิมได้ถูกนำเสนอในปี 2008 ก่อนการสร้างบิตคอยน์ในปี 2009 แต่แนวคิดและเทคโนโลยีที่ใช้ในการสร้างมันถูกพัฒนามานานหลายทศวรรษก่อนหน้านั้น

กระบวนการของบิตคอยน์ในการรับประกันว่ามีเพียงเจ้าของที่ถูกต้องเท่านั้นที่สามารถใช้จ่ายบิตคอยน์ของตนได้ อาศัย Elliptic Curve Digital Signature Algorithm ซึ่งอิงกับการเข้ารหัสลับแบบ Elliptic Curve แนวคิดและกลไกของการเข้ารหัสลับแบบนี้ถูกเสนอโดยนักคณิตศาสตร์ในปี 1985

อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่สำคัญของบิตคอยน์คือ Proof-of-Work ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของการขุดบิตคอยน์และเป็นส่วนสำคัญของการทำงานของเครือข่าย ระบบ Proof-of-Work ถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดมาตั้งแต่ยุค 90 โดยมีการพัฒนาใหญ่ๆ เช่น b-money ของ Wei Dai ในปี 1998 และ Hashcash ของ Adam Back ในปี 1997

แนวคิดของบิตคอยน์

นอกจากส่วนประกอบทางเทคโนโลยีแล้ว บิตคอยน์ยังใช้แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์หลายอย่างที่ถูกพัฒนาขึ้นมาก่อนหน้านี้ แนวคิดของเครือข่ายการชำระเงินแบบไม่ระบุตัวตนได้รับความนิยมครั้งแรกโดย DigiCash ในปี 1989

ในทศวรรษถัดมาแนวคิดนี้ถูกพัฒนาเพิ่มเติมหลายครั้ง โดย DigiCash ได้เปลี่ยนชื่อเป็น eCash แต่ทั้งสองโครงการนี้ถูกออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมที่ไม่ระบุตัวตนของสกุลเงินของรัฐที่มีอยู่แล้ว

ระบบเศรษฐกิจเสมือนที่สร้างและใช้สกุลเงินของตัวเองถูกนำเสนอครั้งแรกโดยวิดีโอเกมเช่น RuneScape และ World of Warcraft ในต้นปี 2000 มูลค่าที่คงที่ของสกุลเงินเสมือนเหล่านี้เป็นหลักฐานสำคัญว่าค่าเงินนั้นสามารถมีค่าได้จากอะไร

และ Liberty Reserve ก่อตั้งขึ้นในปี 2006 ทำให้แนวคิดของการประมวลผลการชำระเงินแบบไม่ระบุตัวตนนอกระบบการเงินดั้งเดิมเป็นที่นิยมสำหรับตลาดการเงินทั่วโลก หลังจากนั้น Liberty Reserve ปิดตัวในปี 2013 เนื่องจากปัญหาทางกฎหมาย

นวัตกรรมของบิตคอยน์

นอกเหนือจากการใช้ส่วนที่ดีที่สุดของนวัตกรรมในอดีตที่ผ่านมา บิตคอยน์ยังนำนวัตกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองมาใช้ด้วย บล็อกเชนของบิตคอยน์เป็นการใช้งานสกุลเงินอิเล็กทรอนิกส์ครั้งแรกที่ไม่อาศัยระบบบัญชีแบบรวมศูนย์

ในเอกสารไวท์เปเปอร์ของบิตคอยน์ Satoshi Nakamoto ระบุว่าการรวมศูนย์เป็นข้อบกพร่องสำคัญในระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่มีอยู่ “หลายคนมองข้ามสกุลเงินอิเล็กทรอนิกส์ว่าเป็นเรื่องที่ไร้ค่าเพราะบริษัทที่ล้มเหลวมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 ผมหวังว่ามันจะชัดเจนว่ามันเป็นเพียงลักษณะที่ควบคุมโดยศูนย์กลางของระบบเหล่านั้นที่ทำให้มันล้มเหลว ผมคิดว่านี่เป็นครั้งแรกที่เราพยายามใช้ระบบที่กระจายศูนย์และไม่อาศัยความเชื่อถือ”

บัญชีแยกประเภทแบบกระจายศูนย์ได้กำจัดความจำเป็นในการควบคุมดูแลสกุลเงินโดยบุคคลที่สาม ทำให้ผู้คนในเครือข่ายทั้งหมดเป็นผู้กำหนดและควบคุมมัน การทำงานบนบัญชีแยกประเภทแบบกระจายศูนย์ต้องการการแก้ปัญหา Byzantine Generals เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ใช้สามารถตกลงกันในสถานะเดียวของบัญชีแยกประเภทและหลีกเลี่ยงการใช้จ่ายซ้ำซ้อน (Double Spending) และธุรกรรมที่ไม่ถูกต้องอื่นๆ

เพื่อแก้ปัญหานี้ บิตคอยน์ใช้กลไก Proof-of-Work บิตคอยน์สามารถบรรลุฉันทามติ (เสียงส่วนใหญ่เห็นตรงกัน) ได้โดยไม่ต้องอาศัยการแทรกแซงจากคนกลาง แม้ว่าต้นแบบของแนวคิดนี้จะถูกเสนอในปี 2004 โดย Hal Finney แต่บิตคอยน์เป็นโครงการแรกที่ประสบความสำเร็จในการนำแนวคิดนี้มาใช้

อีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้เครือข่ายบิตคอยน์ทำงานได้โดยไม่ต้องมีการกำกับดูแลจากคนกลางคือการปรับค่าความยากของบิตคอยน์ (Difficulty) แนวคิดใหม่นี้ช่วยให้เครือข่ายบิตคอยน์ปรับค่าความยากในการขุดบล็อกใหม่โดยอัตโนมัติ

การปรับค่าความยากจะปรับตามความเร็วที่นักขุดสร้างบล็อกใหม่ ถ้าขุดพบเร็วเกินไปก็จะปรับค่าความยากขึ้น ถ้าช้าไปก็จะปรับค่าความยากลง โดยการปรับความยากของการขุดบิตคอยน์สามารถรับรองได้ว่าการขุดเหรียญใหม่จะเกิดขึ้นในอัตราที่กำหนดไว้ล่วงหน้าที่ 10 นาที การปรับอัตโนมัตินี้ทำให้เครือข่ายมีความแข็งแกร่งและขยายตัวได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องเงินเฟ้อหรือขาดความปลอดภัยของเครือข่าย

อีกนวัตกรรมของบิตคอยน์คือการแนะนำแนวคิดของการแก้ไขข้อมูลในบล็อกเชนเพื่อรับรองว่าการทำธุรกรรมที่ผ่านมาในเครือข่ายจะไม่สามารถถูกดัดแปลงได้ ทุกบล็อกใหม่จะถูกต่อท้ายบล็อกเชนที่มีอยู่ ทำให้การทำธุรกรรมที่ผ่านมามีการเชื่อมโยงมากยิ่งขึ้น

วิธีเดียวที่จะแก้ไขการทำธุรกรรมในอดีตได้คือต้องเขียนบล็อกที่มีการทำธุรกรรมนั้นและบล็อกทั้งหมดที่ตามมาใหม่ทั้งหมด นอกจากนี้ ผู้ที่ประสงค์ร้ายยังต้องสร้างบล็อกในเวลาปัจจุบัน และจะต้องสร้างบล็อกใหม่ในอัตราที่สูงกว่าเครือข่ายบิตคอยน์ทั้งหมดเพื่อไล่ตามและสร้างสายบล็อกเชนใหม่ที่ยาวที่สุด

Reference : River