ในฐานะของสกุลเงินดิจิทัลแรกของโลก บิตคอยน์ได้สะสมชื่อเสียงและความเชื่อมั่นจนกลายเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่มีความนิยมและมูลค่าสูงที่สุดในโลก ถึงแม้บิตคอยน์จะประสบความสำเร็จได้ในระดับหนึ่ง แต่ความนิยมที่มากขึ้นของบิตคอยน์ก็นำมาซึ่งความท้าทายบางอย่างที่มากขึ้น โดยเฉพาะความท้าทายในการขยายขนาดให้รองรับคนจำนวนมากขึ้น

และเพื่อเอาชนะความท้าทายเหล่านี้ ชาวคริปโทฯจึงได้พัฒนาเครือข่าย Bitcoin Layer 2 (ชั้นที่ 2 ของบิตคอยน์) ซึ่งเป็นชั้นของโปรโตคอลที่ออกแบบมาสำหรับเพิ่มความสามารถในการปรับขนาด ลดต้นทุนการทำธุรกรรม และปลดล็อกความสามารถใหม่ๆของบิตคอยน์

Bitcoin Layer 2 คืออะไร

Bitcoin Layer 2 หรือชั้นที่สองของบิตคอยน์ คือโปรโตคอลที่สร้างขึ้นบนบล็อกเชน ซึ่งถูกสร้างมาเพื่อแก้ไขปัญหาด้านประสิทธิภาพหรือข้อจำกัดอื่นๆของบิตคอยน์ layer 2 จะประมวลผลธุรกรรมนอกบล็อกเชนหลัก โดยมีข้อดี เข่น ความสามารถในการรองรับผู้คนที่มากขึ้น ความสามารถในการจัดการที่ดีขึ้น และความสามารถในการรองรับ DeFi

ทำไมต้องมี Bitcoin Layer 2

ในตอนแรกบิตคอยน์ถูกออกแบบมาให้เป็นระบบการชำระเงินแบบกระจายศูนย์ที่มีความปลอดภัย แต่ต้องเจอกับข้อจำกัดในเรื่องของความสามารถในการรองรับผู้คนจำนวนมาก เวลาในการสร้างบล็อกอยู่ที่ 10 นาทีต่อ 1 บล็อก เฉลี่ยแล้วตกอยู่ที่ประมาณ 7 ธุรกรรมต่อวินาทีนั้นพิสูจน์แล้วว่าไม่เพียงพอในช่วงที่มีปริมาณธุรกรรมสูง ซึ่งนำไปสู่ค่าธรรมเนียมและความล่าช้าที่เพิ่มขึ้น

รวมถึงตัวโค้ดของเครือข่ายบิตคอยน์ยังจำกัดความสามารถในการรองรับนวัตกรรมที่ซับซ้อนขึ้นอย่างเช่น Smart Contract และ DApps แนวคิดของเครือข่าย Layer 2 เกิดขึ้นมาเพื่อจัดการกับความท้าทายเหล่านี้

Bitcoin Layer 2 ทำงานอย่างไร

Layer 2 หรือชั้นที่ 2 ทำงานโดยมีธุรกรรมและการประมวลผลอยู่นอกเครือข่ายหลัก ซึ่งจะช่วยลดภาระของเครือข่ายหลักลง หรือที่เรียกกันว่า off-chain ซึ่งเป็นการสร้างเส้นทางพิเศษสำหรับการทำธุรกรรมขึ้นมา โดยที่สามารถทำธุรกรรมได้จำนวนมากขึ้น เร็วขึ้น แต่ค่าธรรมเนียมยังลดลงอีกด้วย ทำให้การใช้งานบิตคอยน์กับธุรกรรมขนาดเล็กๆ เช่น ซื้อของที่หน้าร้าน ทำได้สะดวกมากขึ้น

ตัวอย่าง Bitcoin Layer 2

โซลูชั่น Layer 2 ของบิตคอยน์ได้มีการพัฒนาขึ้นมาหลายตัว โดยทีมพัฒนาที่แตกต่างกัน แต่ทุกคนต่างมีเป้าหมายเดียวกันในการช่วยขยายขนาดและเพิ่มฟังก์ชันใหม่ๆให้กับเครือข่ายบิตคอยน์

1.Lightning Network

เป็น Layer 2 ที่เปิดตัวในปี 2018 จะทำงานโดยการเปิดช่องทางพิเศษนอกเครือข่าย ซึ่งภายในช่องทางพิเศษนี้จะทำให้ผู้ใช้งานสามารถทำธุรกรรมขนาดเล็กๆโดยที่มีค่าธรรมเนียมต่ำได้

2.Rootstock (RSK)

Rootstock เป็นผู้บุกเบิกในการสร้างสัญญาอัจฉริยะ (smart contract) บนเครือข่ายของบิตคอยน์ โดยสามารถใช้งานได้ด้วยการส่งเหรียญบิตคอยน์ของเราไปล็อคไว้ที่กระเป๋าเงินของ Rootstock เมื่อล็อคไว้แล้วเราจะได้ RBTC สำหรับใช้ในการทำธุรกรรมที่รวดเร็วและถูกกว่า

3.Stacks Protocol

เลเยอร์ที่สองตัวนี้จะเสริมการใช้งานสัญญาอัจฉริยะและ DeFi ให้กับเครือข่ายบิตคอยน์ มีการใช้ microblock เพื่อเพิ่มความเร็ว และมีการใช้ฉันทามติแบบ Proof of Tranfer (PoX)

4.Liquid Network

Liquid Network คือชั้นที่สองของบิตคอยน์ ที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถโอนเหรียญบิตคอยน์ไปมาได้โดยการนำเหรียญมากองไว้ทั้งสองฝั่งที่ต้องการโอน เมื่อโอนบิตคอยน์ไปที่ Liquid Network เราจะได้เป็น Liquid BTC (LBTC) ในอัตราส่วน 1 ต่อ 1

การใช้งานจริงของ Bitcoin Layer 2

Bitcoin Layer 2 ได้พัฒนามาไกลกว่าการขยายขนาดรองรับผู้ใช้งานเพียงอย่างเดียว มันได้เปิดโอกาสใหม่ๆให้กับบิตคอยน์ เช่นการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันและฟังก์ชันเสริมอื่นๆ

1.ยกระดับความสามารถในการโปรแกรม

Layer 2 ช่วยทำให้บิตคอยน์มีสัญญาอัจฉริยะ (smart contract) ที่ซับซ้อน ซึ่งทำให้นักพัฒนาสามารถสร้างบริการทางการเงินแบบไร้ศูนย์กลาง (DeFi) ,NFT และ Web3 ให้กับเครือข่ายบิตคอยน์ได้

2.Bitcoin DeFi

โซลูชั่น Layer 2 อย่างเช่น Lightning Network และ Stacks ช่วยเพิ่มขีดจำกัดในการเติบโตของการเงินแบบกระจายอำนาจ (DeFi) บนบล็อกเชนของบิตคอยน์ ทำให้ผู้ใช้งานบิตคอยน์สามารถมีส่วนร่วมในการจัดการสินทรัพย์ การกู้ยืมเงิน และการเทรดแบบไร้คนกลาง

3.แก้ปัญหา Blockchain Trilemma

Layer 2 มีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาขีดจำกัด 3 ด้านของบล็อกเชน ขีดจำกัด 3 ด้านคือ การกระจายอำนาจ ความปลอดภัย และความสามารถในการรองรับคนจำนวนมาก ที่เป็นปัญหาเพราะไม่มีเครือข่ายบล็อกเชนใด ที่สามารถทำลายขีดจำกัดครบทั้ง 3 ด้านได้ อย่างมากสุดก็ 2 ด้าน เมื่อเลือกพัฒนาด้านใดด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งก็จะถูกด้อยลง ซึ่ง Layer 2 ก็ได้เข้ามาเป็นโซลูชั่นให้กับเครือข่ายบล็อกเชน โดยที่เครือข่ายไม่ต้องเสียอะไรไป

ขาขึ้นของเครือข่าย Bitcoin Layer 2

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความสำคัญของ Layer 2 ได้เพิ่มมากขึ้น พร้อมๆกับการขยายตัวของโลกคริปโทเคอร์เรนซี มีการนำ Layer 2 นำไปปรับใช้และใช้งานจริงอย่างกว้างขวาง ตัวอย่างเช่น Binance ที่นำ Lightning Network มาใช้ภายในตัว Exchange ตั้งแต่ปี 2023

Reference : Binance Academy