สำหรับคนที่เพิ่งเข้ามาในโลกของคริปโทเคอร์เรนซี คำศัพท์เฉพาะบางอย่างอาจทำให้เกิดความสับสนและเข้าใจความหมายคลาดเคลื่อนได้ บางคนจะพูดถึง Bitcoin เมื่อพูดถึงเทคโนโลยี Blockchain ในขณะที่บางคนจะพูดถึง Blockchain เมื่อพูดถึง Cryptocurrency ทั่วไป ความจริงแล้ว คำศัพท์เหล่านี้ไม่สามารถใช้แทนกันได้ เพราะมันมีแนวคิดที่แตกต่างกัน แต่มีความเกี่ยวข้องกันเท่านั้นเอง ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างคำเหล่านี้
เปรียบเทียบกันแบบง่ายๆ Blockchain คือเทคโนโลยีเฉพาะสำหรับการบันทึกข้อมูล ส่วน Cryptocurrency เป็นหนึ่งในวิธีการใช้งานบล็อกเชนที่ได้รับความนิยมมากที่สุด (บล็อกเชนจะนำไปใช้งานด้านอื่นก็ได้) และ Bitcoin คือหนึ่งใน Cryptocurrency ที่ถูกสร้างเป็นตัวแรกและได้รับความนิยมมากที่สุด
แนวคิดของ Blockchain
บล็อกเชนถูกออกแบบและสร้างมาให้เป็นสมุดบัญชีดิจิทัลแบบกระจายศูนย์ ทำให้หน้าที่ในการบันทึกข้อมูลรายการธุรกรรมที่เกิดขึ้น
เหมือนชื่อของมัน บล็อกเชนมีลักษณะเป็นหมือนบล็อกที่นำมาต่อกันไปเรื่อยๆเป็นสายยาว ในแต่ละบล็อกมีการรักษาความปลอดภัยด้วยการเข้ารหัสและเสริมด้วยการเชื่อมต่อไปยังบล็อกอื่นๆ ซึ่งเทคโนโลยียังสามารถนำไปใช้ในกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับการเงิน แต่เมื่อนำมาใช้กับคริปโทเคอร์เรนซี มันจะทำหน้าที่เป็นสมุดบันทึกธุรกรรมที่ได้รับการยืนยันทั้งหมดอย่างถาวร
การกระจายศูนย์ หมายถึงวิธีการจัดโครงสร้างของการบันทึกข้อมูล เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายมากขึ้น ให้นึกถึงการบันทึกข้อมูลแบบรวมศูนย์ทั่วไป เช่น ข้อมูลการถอนเงินผ่านตู้ธนาคาร หรือรายการขายสินค้าต่างๆ จะเห็นได้ว่ามีบริษัทหรือองค์กรเดียวที่ทำหน้าที่บันทึกข้อมูล เช่น ธนาคาร หน่วยงานรัฐ และบริษัทเอกชน ปัจจัยอีกข้อที่แตกต่างก็คือมีสำเนาของข้อมูลเพียงชุดเดียว ซึ่งต้องบอกก่อนว่าการบันทึกข้อมูลแบบนี้ก็มีข้อดี เช่น ความรวดเร็ว และอำนาจควบคุมมาจากจุดเดียว
และตรงกันข้าม บล็อกเชนส่วนใหญ่มักมีลักษณะการบันทึกข้อมูลแบบกระจาย หมายความว่ามีสำเนาของข้อมูลหลายฉบับ และไม่มีหน่วยงานเดียวในการควบคุม (กระจายอำนาจ) พูดง่ายๆก็คือผู้ใช้ทุกคนที่ตัดสินใจเข้าร่วมและมีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบเครือข่ายบล็อกเชน จะเก็บสำเนาข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของบล็อกเชนเอาไว้ ซึ่งจะได้รับการอัปเดตข้อมูลธุรกรรมใหม่ที่เพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ และซิงโครไนซ์กับสำเนาของคนอื่นอย่างสม่ำเสมอ
การกระจายศูนย์จะได้รับการตรวจสอบดูแลโดยผู้ใช้งานทั่วโลกที่ทำงานร่วมกัน ผู้ใช้งานประเภทนี้เรียกว่า โหนดเครือข่าย และโหนดประเภทนี้ทั้งหมดจะมีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องของธุรกรรมตามกฎเกณฑ์ของเครือข่ายนั้นๆ
การทำงานของ Blockchain
บล็อกเชนเปรียบเสมือนกล่องกระจกที่เก็บข้อมูลธุรกรรม ทั้งบล็อกและข้อมูลข้างในเป็นสาธารณะและโปร่งใส แต่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อมีการเพิ่มบล็อกใหม่ลงในบล็อกเชน ความเชื่อมโยงระหว่างบล็อกเก่ากับบล็อกใหม่จะถูกสร้างขึ้น
บล็อกเชนทุกบล็อกที่ได้รับการยืนยันใหม่ จะเชื่อมโยงกับบล็อกที่ถูกสร้างก่อนหน้า ความเจ๋งของมันก็คือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเปลี่ยนแปลงข้อมูลเมื่อถูกบรรจุลงในบล็อกเชนแล้ว
หนึ่งในเหตุผลหลักว่าทำไมบล็อกเชนจึงสามารถป้องกันการแก้ไขข้อมูลนั้นเพราะบล็อกเชนจะมีการรักษาความปลอดภัยด้วยการเข้ารหัส เพื่อที่จะสร้างบล็อกใหม่ลงในบล็อกเชน ผู้เข้าร่วมเครือข่ายจะต้องมีส่วนร่วมในการคำนวณทางคณิตศาสตร์ ที่มีค่าใช้จ่ายและต้องใช้กำลังการคำนวณที่สูง จึงจำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์มาประมวลผล เราเรียกคนกลุ่มนี้ว่า นักขุด
โดยพื้นฐานแล้ว นักขุดมีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจสอบธุรกรรมและจัดกลุ่ม แล้วเพิ่มลงไปในบล็อกใหม่ และมีหน้าที่ในการขุดเหรียญใหม่เข้ามาสู่ในระบบ ซึ่งเหรียญใหม่เหล่านี้ก็จะกลายเป็นผลตอบแทนของนักขุด
การทำงานของ Cryptocurrency
คริปโทเคอร์เรนซี คือเงินในรูปแบบดิจิทัลที่ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนภายในเครือข่ายบล็อกเชน ต่างจากการโอนเงินในธนาคารตรงที่คริปโทเคอร์เรนซีจะไม่มีคนกลางสำหรับแลกเปลี่ยนเงิน บล็อกเชนจะทำหน้าที่บันทึกข้อมูล และบล็อกเชน (อย่างเช่นบิตคอยน์) จะเป็นการทำงานร่วมกันของผู้ใช้งานทั่วโลก ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งสามารถตัดสินใจระงับบัญชี หรืออายัดเงินได้
คริปโทฯ “Crypto” หมายถึงเทคนิคการเข้ารหัสที่ใช้ในการรักษาความปลอดภัยของระบบ และทำให้แน่ใจว่าการสร้างเหรียญใหม่และการตรวจสอบธุรกรรมเป็นไปอย่างราบรื่น
ไม่ใช่คริปโทเคอร์เรนซีทุกตัวจะมีระบบการขุดแบบบิตคอยน์ เพราะบิตคอยน์ได้รับการออกแบบมาให้มีการเติบโตของอุปทานที่ช้า (เหรียญเพิ่มช้า) และควบคุมได้ ดังนั้นการขุดเหรียญจึงเป็นวิธีเดียวที่จะสร้างเหรียญขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นวิธีการป้องกันความเสี่ยงที่เหรียญจะเฟ้อ (มีเหรียญมากเกินไป จนทำให้มูลค่าตก)
การทำงานของ Bitcoin
บิตคอยน์เป็นคริปโทเคอร์เรนซีตัวแรกที่ถูกสร้างขึ้นมา และเป็นคริปโทเคอร์เรนซีที่มีชื่อเสียงและมูลค่าสูงสุด เปิดตัวในปี 2009 โดย Satoshi Nakamoto นักพัฒนาลึกลับที่ใช้นามแฝง แนวคิดหลักของบิตคอยน์คือต้องการสร้างระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นอิสระและกระจายศูนย์ โดยอาศัยการตรวจสอบทางคณิตศาสตร์และการเข้ารหัส
บิตคอยน์เป็นคริปโทเคอร์เรนซีที่มีอุปทานจำกัด หมายความว่าระบบจะไม่สร้างเหรียญใหม่ออกมาอีกแล้วหลังจากถูกขุดมาจนครบ อุปทานเหรียญทั้งหมดของบิตคอยน์มีอยู่ 21 ล้านเหรียญ ตอนนี้ถูกขุดไปแล้วประมาณ 19 ล้านเหรียญ และขุดออกมา 6.25 เหรียญ ทุกๆ 10 นาที
หลังจากที่บิตคอยน์เกิดขึ้นมา ก็ได้มีคริปโทเคอร์เรนซีใหม่ๆเกิดตามมามากมาย ซึ่งแต่ละตัวก็จะมีคุณสมบัติและกลไกเฉพาะของตัวเอง นอกจากนี้คริปโทเคอร์เรนซีบางตัวก็ไม่ได้มีบล็อกเชนเป็นของตัวเอง บางตัวถูกสร้างขึ้นมาจากบล็อกเชนที่มีอยู่แล้ว บางตัวก็ถูกสร้างมาจากจุดเริ่มต้นโดยสมบูรณ์
Reference : Binance Academy