.

.

เมื่อเหล่านักเทรดต้องตัดสินใจว่าจะเข้าซื้อและขายตรงจุดไหน คนที่รอบคอบมักจะใช้ข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจ เช่นดูกราฟ วิเคราะห์พื้นฐาน และดูความรู้สึกของตลาด ซึ่ง Fear and Greed Index ก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่นำความรู้สึกของตลาดและการวิเคราะห์ทางพื้นฐานมาผสมผสานกัน ที่ช่วยให้เราสามารถมองเห็นความกลัวและความโลภของตลาดได้

.

Index – ดัชนีคืออะไร

ปกติแล้ว Index คือการนำข้อมูลจากหลายจุดมาคำนวณร่วมกัน แล้วได้ออกมาเป็นหน่วยวัดทางสถิติ เช่น Dow Jones Industrial Average (DJIA) ซึ่งเป็นดัชนีที่คำนวณจากราคาหุ้นแบบถ่วงน้ำหนักของบริษัทขนาดใหญ่ 30 อันดับแรกที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ที่ลงทุนใน DJIA ก็จะเป็นการลงทุนในหุ้นของบริษัทเหล่านี้

ส่วนดัชนีความกลัวและความโลภ (Fear and Greed Index) ของคริปโทเคอร์เรนซี ก็จะเป็นค่า 0-100 ที่แสดงว่าตลาดอยู่ในสถานะความกลัวหรือความโลภ

.

Fear and Greed Index คืออะไร

เดิมที Fear and Greed Index ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสำหรับใช้วิเคราะห์ความรู้สึก (Market Sentiment) ของตลาดหุ้น แต่หลังจากนั้นก็มีคนนำมาปรับใช้กับตลาดคริปโทเคอร์เรนซี

Fear and Greed Index ใช้การวิเคราะห์หลายๆอย่างร่วมกัน ได้ออกมาเป็นค่าตัวเลขที่แสดงว่าผู้คนในตลาดนั้นกำลังรู้สึกโลภหรือหวาดกลัวอยู่ เมื่อตัวเลขอยู่ที่ 0 หมายความว่าผู้คนในตลาดเกิดความกลัวสูงสุด ส่วนตัวเลข 100 หมายถึงผู้คนในตลาดเกิดความโลภสูงสุด และตัวเลข 50 หมายความว่าอารมณ์ของตลาดเป็นกลาง

ตลาดที่เกิดความหวาดกลัวอาจเป็นตัวบ่งบอกว่าคริปโทเคอร์เรนซีนั้นมีมูลค่าต่ำกว่าปกติ (Undervalue) ความหวาดกลัวของตลาดที่สูง อาจนำไปสู่ความตื่นตระหนกและการขายมากเกินไป (Oversold) ซึ่งสภาวะตลาดที่เกิดความหวาดกลัวไม่ได้หมายความว่าตลาดเข้าสู่แนวโน้มขาลงเสมอไป แต่เป็นแค่การบอกว่าคนในตลาดรู้สึกอย่างไร

ส่วนตลาดที่เกิดความโลภจะมีสภาวะตรงกันข้ามกับความกลัว หากนักลงทุนและนักเทรดเกิดความโลภ ก็จะมีโอกาสทำให้ประเมินค่าคริปโทเคอร์เรนซีสูงเกินไปและเกิดเป็นฟองสบู่ที่พร้อมจะแตก เช่น สภาวะ FOMO (กลัวตกรถ) ทำให้คนแห่เข้าไปซื้อคริปโทเคอร์เรนซีที่มีมูลค่าสูงอยู่แล้ว โดยหวังว่าราคาจะขึ้นสูงต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งความเป็นจริงราคาไม่มีทางขึ้นสูงโดยไม่ตกลงด้านล่าง และเมื่อราคามันตกลง ก็อาจจะกลายเป็นแนวโน้มขาลงต่อไปได้

.

Fear and Greed Index คำนวณอย่างไร

1.ความผันผวน 25%

วัดจากมูลค่าของบิตคอยน์เฉลี่ยในช่วง 30 และ 90 วันที่ผ่านมา ซึ่ง Fear and Greed index จะใช้ความผันผวนของตลาดเป็นตัวแทนของความไม่แน่นอนในตลาดคริปโทเคอร์เรนซี

2.โมเมนตัม/ปริมาณการซื้อขายในตลาด (25%)

จะนำปริมาณการซื้อขายและโมเมนตัมของตลาดบิตคอยน์ในปัจจุบันมาเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยนของ 30 วันและ 90 วันก่อนหน้า จากนั้นเอามารวมกัน ซึ่งการซื้อขายในปริมาณมากอย่างต่อเนื่องบ่งบอกถึงความรู้สึกของตลาดในเชิงบวกหรือความโลภ

3.โซเชียลมีเดีย (15%)

จะดูจากจำนวนแฮชแท็กใน Twitter(X) ที่เกี่ยวข้องกับบิตคอยน์ ซึ่งจะโฟกัสไปที่การโต้ตอบเป็นส่วนใหญ่ โดยทั่วไปแล้วการโต้ตอบกันในปริมาณที่สูงกว่าปกติจะหมายถึงผู้คนในตลาดนั้นเกิดความโลภ

4.Bitcoin Dominance (10%)

Bitcoin Dominance หมายถึงมูลค่าตลาดของบิตคอยน์มีสัดส่วนเท่าไรเมื่อเทียบกับสัดส่วนมูลค่าตลาดของคริปโทเคอร์เรนซีทั้งหมด Bitcoin Dominance ที่เพิ่มขึ้นจะแสดงถึงการไหลเวียนเงินจากเหรียญอื่นๆนอกจากบิตคอยน์หรือจากนอกตลาด เข้ามาสู่บิตคอยน์มากขึ้น

5.Google Trends (10%)

จะดูข้อมูล Google trends ว่าคำค้นหาที่เกี่ยวข้องกับบิตคอยน์ ว่ามีมากน้อยแค่ไหน ข้อมูลนี้จะมอบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความรู้สึกของตลาดได้ ตัวอย่างเช่น คำค้นหาว่า “ลงทุนใน Bitcoin” เพิ่มมากขึ้น จะบ่งบอกถึงความต้องการลงทุนในบิตคอยน์นั้นเพิ่มขึ้น

6.ผลสำรวจ (15%)

ผลสำรวจข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง

 

.

Fear and Greed Index มีประโยชน์อย่างไร

Fear and Greed Index มักถูกใช้เป็นเครื่องมือสำหรับตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ของตลาด (Market Sentiment) การเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่จะทำให้เราสามารถเข้าหรือออกจาก position ก่อนที่ตลาดจะเปลี่ยนเทรนด์

.

Fear and Greed Index กับการลงทุนระยะยาว

Index นี้ใช้ไม่ได้ผลกับการวิเคราะห์ตลาดคริปโทเคอร์เรนซีในระยะยาว ไม่ว่าจะเทรนด์ขาขึ้นหรือขาลง จะมีความกลัวและความโลภเกิดขึ้นหลายรอบ สำหรับนักลงทุนที่ต้องการถือในระยะยาว เป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์การเปลี่ยนเทรนด์จากขาขึ้นเป็นขาลงเพียงแค่ดูจาก Index นี้ เราจำเป็นต้องวิเคราะห์ด้านอื่นๆของตลาดเพื่อให้เห็นแนวทางในระยะยาว แต่สำหรับนักเทรดระยะสั้น Index นี้จะมีประโยชน์มาก เพราะสามารถดูการเปลี่ยนแปลงในระยะสั้นของตลาดได้

.

.

.

.

Reference : Binance Academy