Hyperinflation คืออะไร
ทุกๆประเทศในโลกประสบพบเจอกับปัญหาเงินเฟ้อไม่ว่าจะเป็นแบบอ่อนๆหรือแบบรุนแรง ซึ่งเงินเฟ้อคือภาวะที่ราคาของสินค้าเพิ่มสูงขึ้น และมูลค่าของสกุลเงินลดต่ำลง โดยปกติแล้วรัฐบาลกับสถาบันการเงินของประเทศจะร่วมมือกันเพื่อทำให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับอ่อนๆและเพิ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไป
แต่อย่างไรก็ตาม มีหลายครั้งในประวัติศาสตร์โลกที่อัตราเงินเฟ้อของบางประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จนทำให้มูลค่าที่แท้จริงของสกุลเงินประเทศนั้นลดลงจนแทบไม่เหลือค่า ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้มีชื่อเรียกว่าภาวะเงินเฟ้อรุนแรง (Hyperinflation) นั่นเอง
อ้างอิงจากหนังสือชื่อ “The Monetary Dynamics of Hyperinflation” ได้บอกไว้ว่าช่วงเวลาที่เกิด hyperinflation จะเริ่มต้นเมื่อราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% ภายในเวลา 1 เดือน ตัวอย่างเช่น หากราคาข้าว 1 จานเพิ่มขึ้นจาก 50 บาท เป็น 75 บาทในเวลาไม่ถึงเดือน และเพิ่มเป็น 112.5 บาทในเดือนถัดไป หากสถานการณ์นี้ดำเนินต่อไปราคาข้าวจะสูงกว่า 500 บาทภายในระยะเวลา 6 เดือน เมื่อครบปีราคาข้าว 1 จานจะอยู่ที่ 6000 กว่าบาท เราจะเรียกสถานการณ์นี้ว่าภาวะเงินเฟ้อรุนแรง
ซึ่งนั่นคือเหตการณ์สมมติ ความจริงแล้วอัตราเงินเฟ้อรุนแรงจะไม่คงที่ที่ 50% อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนราคาของสินค้าและบริการต่างๆเพิ่มขึ้นสูงภายในเวลาไม่กี่วันหรือเพียงวันเดียว ผลของราคาสินค้าและบริการที่สูงขึ้นทำให้ความเชื่อมั่นในสกุลเงินลดลง ส่งผลให้มูลค่าของสกุลเงินนั้นลดลง และต่อจากนั้นภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงจะส่งผลกระทบต่อบริษัทต่างๆต้องปิดตัวลง อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น ภาษีเข้าสู่รัฐน้อยลง เหตุการณ์เงินเฟ้อรุนแรงในประวัติศาสตร์โลกเกิดขึ้นที่ประเทศ เยอรมนี เวเนซุเอลา และซิมบับเว รวมถึงประเทศอื่นๆที่ประสบวิกฤติคล้ายๆกันเช่น ฮังการี ยูโกสลาเวีย กรีซ
Hyperinflation ในประเทศเยอรมนี
ตัวอย่างหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อรุนแรงคือประเทศเยอรมนีช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เยอรมนีได้ยืมเงินจำนวนมหาศาลมาเป็นทุนในการทำสงคราม โดยเชื่อมั่นอย่างเต็มที่ว่าตนจะสามารถชนะสงครามและนำเงินที่ได้จากผู้แพ้มาชดใช้หนี้ที่ได้ยืมมา แต่เยอรมนีกลับแพ้สงคราม และต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามให้ประเทศผู้ชนะอีกด้วย
มีการถกเถียงกันเกี่ยวกับสาเหตุของภาวะเงินเฟ้อรุนแรงในประเทศเยอรมนีว่าเป็นเพราะสาเหตุใดกันแน่ สาเหตุที่พูดถึงกันเยอะได้แก่ การหยุดใช้มาตรฐานทองคำ ค่าปฏิกรรมสงคราม การพิมพ์เงินกระดาษออกมาแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง เยอรมนีหยุดใช้มาตรฐานทองคำในช่วงเริ่มต้นของสงคราม ซึ่งหมายความว่าเงินที่หมุนเวียนในประเทศนั้นไม่ได้มีการค้ำโดยทองคำ
เงินที่ไม่ได้ถูกค้ำด้วยมาตรฐานทองคำนี้จึงนำไปสู่การเสื่อมมูลค่าของสกุลเงินเยอรมนี ทางฝ่ายสัมพันธมิตรที่เป็นผู้ชนะสงครามจึงเรียกเงินชดใช้เป็นสกุลเงินอื่นที่ไม่ใช่ของเยอรมนี เยอรมนีจึงสรรหาวิธีด้วยการพิมพ์สกุลเงินของตนจำนวนมหาศาลออกมา แล้วนำไปซื้อเงินตราต่างประเทศ ทำให้มูลค่าสกุลเงินของเยอรมนีอ่อนค่ามากยิ่งขึ้น
ถึงจุดหนึ่ง ประเทศเยอรมนีพบเจอปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น 20% ต่อวัน สกุลเงินของเยอรมนีไร้ค่ามากจนประชาชนบางคนต้องเผาเงินที่มีเพื่อสร้างไออุ่นให้กับที่อยู่อาศัย เพราะเงินที่เผาไปเพื่อสร้างไออุ่นยังมีค่าน้อยกว่าฟืน
Hyperinflation ในประเทศเวเนซุเอลา
ในอดีตเวเนซุเอลาเคยเป็นประเทศที่ร่ำรวยมาก เนื่องจากมีแหล่งน้ำมันปริมาณมหาศาลภายในประเทศ เวเนซุเอลาสามารถรักษาสภาพเศรษฐกิจให้แข็งแรงได้ในช่วงศตวรรษที่ 20 แต่ปัญหาด้านการเงินของเวเนซุเอลาเริ่มก่อตัวในช่วงปี 1980 ในช่วงที่โลกมีน้ำมันล้นเหลือเพราะค้นพบแหล่งน้ำมันอื่นๆ ประกอบกับปัญหาคอรัปชั่นและการบริหารประเทศที่ผิดพลาดในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ทำให้ประเทศเวเนซุเอลาพบเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองที่รุนแรง วิกฤตนี้เริ่มต้นในปี 2010 ซึ่งถือเป็นวิกฤตที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยศาสตร์
อัตราเงินเฟ้อในเวเนซุเอลาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มจากปีละ 69% ในปี 2014 เป็น 181% ในปี 2015 ภาวะเงินเฟ้อรุนแรงเริ่มต้นในปี 2016 โดยมีอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 800% ภายในสิ้นปี ต่อมาเป็น 4,000% ในปี 2017 และมากกว่า 2,600,000% ในต้นปี 2019
ในปี 2018 ประธานาธิบดี Nicolás Maduro ประกาศว่าจะมีการออกสกุลเงินใหม่มาทดแทนสกุลเงินเก่าเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรง โดยแทนที่สกุลเงินเก่าในอัตรา 1/100,000 หมายความว่าสกุลเงินใหม่ของเวเนซุเอลา 1 หน่วย มีค่าเท่ากับสกุลเงินเก่า 100,000 หน่วย แต่ก็มีคนตั้งข้อสงสัยว่าประธานาธิบดีไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย เศรษฐกิจของประเทศก็ยังเป็นแบบเดิม แค่ตัด 0 ออกไปจากสกุลเงิน
Hyperinflation ในประเทศซิมบับเว
หลังจากที่ซิมบับเวได้รับเอกราชในปี 1980 เศรษฐกิจของซิมบับเวค่อนข้างมีเสถียรภาพในช่วงปีแรกๆ แต่พอถึงสมัยรัฐบาลของประธานาธิบดี Robert Mugabe ได้ริเริ่มโครงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ (ESAP) ในปี 1991 ซึ่งถือเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศซิมบับเวล่มสลาย นอกจากโครงการ ESAP แล้ว การปฏิรูปที่ดินที่ดำเนินการโดยรัฐยังส่งผลให้การผลิตอาหารของประเทศลดลงอย่างมาก นำไปสู่วิกฤตทางการเงินและสังคมครั้งใหญ่
สกุลเงินดอลลาร์ซิมบับเว (ZWN) เริ่มส่งสัญญาณอันตรายตั้งแต่ช่วงปลายยุค 90 และภาวะเงินเฟ้อรุนแรงก็เริ่มขึ้นในช่วงต้นปี 2000 อัตราเงินเฟ้อต่อปีอยู่ที่ 624% ในปี 2004 เพิ่มเป็น 1,730% ในปี 2006 และ 231,150,888% ในปี 2008 ซึ่งจริงๆแล้วไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ แต่ธนาคารกลางของซิมบับเวหยุดให้ข้อมูลต่อสาธารณะ ข้อมูลหลังจากนี้จึงเป็นการประมาณการทางทฤษฎี
จากการคำนวณของศาสตราจารย์ Steve H. Hanke ภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรงของซิมบับเวถึงจุดสูงสุดในเดือนพฤศจิกายน 2008 ในอัตรา 89.7 ล้านล้านเปอร์เซ็นต์ต่อปี หรือเท่ากับอัตราเงินเฟ้อ 98% ต่อวัน หลังจากนั้นสกุลเงิน ZWN ถูกยกเลิกใช้งานอย่างเป็นทางการ และนำสกุลเงินต่างประเทศมาใช้แทน
ซิมบับเวเป็นประเทศแรกที่ประสบภาวะเงินเฟ้อรุนแรงหลังปี 2000 และเป็นเหตุการณ์เงินเฟ้อที่เลวร้ายที่สุดเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์รองจากประเทศฮังการี
การมาของคริปโทเคอร์เรนซี
เนื่องจากบิตคอยน์และคริปโทเคอร์เรนซีอื่นๆ(ไม่ใช่ทั้งหมด) ไม่ได้ถูกควบคุมโดยองค์กรหรือรัฐบาลใด มูลค่าของมันจึงไม่ได้ถูกควบคุมแต่ปล่อยไปตามอุปสงค์และอุปทาน นี่คือจุดเด่นบางข้อของคริปโทเคอร์เรนซี ที่ทำให้มันได้รับความนิยม โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรง เช่น เวเนซุเอลา หรือในซิมบับเว ที่การชำระเงินแบบ peer-to-peer ด้วยคริปโทเคอร์เรนซีเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก
ในบางประเทศ รัฐบาลก็กำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะนำคริปโทเคอร์เรนซีที่สนับสนุนโดยรัฐบาลมาใช้งาน ซึ่งเป็นทางเลือกที่มีศักยภาพและความเป็นไปได้ ธนาคารกลางแห่งสวีเดนเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศแรกๆที่สนใจ รวมถึงธนคารกลางของสิงคโปร์ แคนาดา จีน และสหรัฐอเมริกา
Reference :