การเปิดตัว Segregated Witness (SegWit) เป็นก้าวสำคัญในการแก้ปัญหาต่างๆที่เกี่ยวข้องกับบิตคอยน์และเครือข่ายบล็อกเชนอื่นๆ โดยเฉพาะความสามารถในการเพิ่มปริมาณธุรกรรมที่สามารถทำได้ของบิตคอยน์ ทำให้การทำธุรกรรมบนเครือข่ายมีประสิทธิภาพขึ้นและต้นทุนที่ต่ำลง ซึ่ง SegWit ได้รับการสนับสนุนจากผู้คนบนเครือข่ายบิตคอยน์เป็นอย่างดี
SegWit คืออะไร
Segregated Witness (SegWit) คือโปรโตคอลที่มีไว้สำหรับอัพเกรดเครือข่ายบล็อกเชน ที่สร้างขึ้นในปี 2015 โดยนักพัฒนาบิตคอยน์ Pieter Wuille เนื่องจากข้อจัดกัดของบล็อกเชนที่สามารถรองรับธุรกรรมได้จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาของบิตคอยน์ที่พบเจอตลอดมา
โดยเฉลี่ยแล้วเครือข่ายบิตคอยน์จะสร้างบล็อกใหม่ทุกๆ 10 นาที ในแต่ละบล็อกจะบรรจุธุรกรรมที่เกิดขึ้นเอาไว้ ในปัจจุบันเครือข่ายบิตคอยน์สามารถคอนเฟิร์มธุรกรรมได้ประมาณ 7 ธุรกรรมต่อวินาที โดยสิ่งที่กำหนดว่าจะทำธุรกรรมได้จำนวนเท่าใดคือขนาดของบล็อก การที่สามารถทำธุรกรรมได้เพียง 7 ธุรกรรมต่อวินาที ทำให้ผู้ใช้งานต้องรอนานกว่าจะทำธุรกรรมสำเร็จ ซึ่งถือว่าช้ากว่าระบบธุรกรรมแบบปกติ ที่สามารถทำธุรกรรมได้มากกว่า 100 ธุรกรรมต่อวินาที
SegWit จึงมีไอเดียหลักคือการจัดระเบียบข้อมูลบล็อกใหม่ โดยไม่ต้องมี signatures ร่วมกับข้อมูลธุรกรรมอีกต่อไป หรือก็คือ SegWit คือการแยกลายเซ็น (signature) ออกจากข้อมูลธุรกรรมที่ปกติแล้วจะต้องอยู่คู่กัน ด้วยการทำแบบนี้จะทำให้บล็อกเหลือพื้นที่มากขึ้น สามารถบรรจุธุรกรรมในบล็อกได้มากขึ้น และเครือข่ายจะคอนเฟิร์มธุรกรรมได้เร็วขึ้น
ในปี 2017 การอัพเกรด SegWit ถูกนำมา soft fork บนเครือข่ายบิตคอยน์ และในปัจจุบันโปรเจคคริปโทฯ หลายๆโปรเจค ได้ใช้งาน SegWit ซึ่งรวมถึง Bitcoin และ Litecoin ด้วย การอัพเกรดนี้สร้างประโยชน์ได้มากมาย เช่น เพิ่มความเร็วในการทำธุรกรรม เพิ่มพื้นที่ของบล็อก
ประโยชน์ของ SegWit
เพิ่มความจุ
หนึ่งในประโยชน์ที่สำคัญที่สุดของ SegWit คือการเพิ่มพื้นที่ของบล็อก โดยการนำข้อมูล signature ออกไป ทำให้มีพื้นที่เก็บข้อมูลธุรกรรมเพิ่มขึ้น
ธุรกรรมหรือ transactions ประกอบด้วยสองส่วนคือ input และ output โดยภายใน input จะประกอบด้วย public address ของผู้ส่ง ส่วน output จะประกอบด้วย public address ของผู้รับ ในการทำธุรกรรม ผู้ส่งจะต้องพิสูจน์ก่อนว่าตนมีเงินพอที่จะส่ง ซึ่งต้องทำด้วยลายเซ็นดิจิทัล (digital signature)
ถ้าไม่มี SegWit ข้อมูลของ signature จะมีขนาดถึง 65% ของบล็อก และการนำ signature ออกไปทำให้พื้นที่ของบล็อกที่ใช้งานได้เพิ่มขึ้นจาก 1 MB เป็น 4 MB ซึ่งจริงๆแล้ว SegWit ไม่ได้เพิ่มขนาดความจุของบล็อกโดยตรง แต่เป็นการใช้วิธีการทางวิศวกรรมมาเพิ่มความจุของบล็อกที่ใช้งานได้ให้มีมากขึ้น
เพิ่มความเร็วในการทำธุรกรรม
ในหัวข้อก่อนเราบอกว่า SegWit ทำให้บิตคอยน์สามารถเก็บข้อมูลธุรกรรมได้มากขึ้น จึงส่งผลให้ธุรกรรมทำได้เร็วขึ้นด้วย ต้องบอกก่อนว่าบิตคอยน์ใช้เวลายืนยันธุรกรรมประมาณ 10 นาทีเท่าเดิม แต่ใน 10 นาทีนี้บิตคอยน์สามารถยืนยันธุรกรรมได้มากขึ้น
และการเพิ่มความเร็วการทำธุรกรรมยังส่งผลให้ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมบิตคอยน์ลดลงด้วย ก่อนจะมี SegWit อาจต้องเสียค่าธรรมเนียมเกือบ 1000 บาทได้เลย แต่การมี SegWit ทำให้ค่าธรรมเนียมลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญจนต่ำกว่า 100 บาทต่อธุรกรรมเลย
ลดปัญหา
ปัญหาสำคัญเกี่ยวกับบิตคอยน์คือความสามารถในการปลอมแปลง signature ในการทำธุรกรรม หาก signature ถูกแก้ไขจะส่งผลให้ธุรกรรมระหว่างสองคนเสียหายได้ ด้วยการที่ SegWit นำ signature ออกไปทำให้ปัญหานี้หายไปด้วยเช่นกัน
SegWit และ Lightning Network
Layer-2 คือคำที่ใช้เรียกสิ่งที่สร้างขึ้นมาเพื่ออัพเกรดหรือลดข้อจำกัดของบล็อกเชน หรือเรียกง่ายๆว่า Layer-2 คือผลิตภัณฑ์หรือแพลตฟอร์มที่สร้างขึ้นบนบล็อกเชน เช่น Bitcoin และ Ethereum หนึ่งใน Layer-2 ที่มีความนิยมมากคือ Lightning Network ซึ่งเหมาะสำหรับใช้จ่ายเงินก้อนเล็กๆโดยไม่ผ่านเครือข่ายบล็อกเชนโดยตรง
Lightning Network คือ Layer-2 ที่ทำงานบนเครือข่ายบิตคอยน์ เป้าหมายหลักของ Lightning Network คือการทำให้ธุรกรรมได้รับการยืนยันในเวลาที่เร็วขึ้น ส่งผลให้ผู้ใช้งานใช้งานบิตคอยน์ได้สะดวกขึ้น ซึ่งธุรกรรมที่ทำผ่าน Lightning Network จะเกิดขึ้นนอกเครือข่าย เมื่อถึงเวลาหนึ่งข้อมูลธุรกรรมถึงจะไปรวมในเครือข่ายหลัก ซึ่งตอนแรก Lightning Network ถูกพัฒนามาเพื่อใช้กับบิตคอยน์ แต่โปรเจคคริปโทเคอร์เรนซีและบล็อกเชนอื่นๆก็ได้นำเทคโนโลยีนี้ไปใช้กับเครือข่ายของตัวเอง
Reference :