Fee-To-Reward Ratio แสดงถึงความมั่นคงและความปลอดภัยของเครือข่ายบิตคอยน์ เพราะว่าเหล่านักขุดจะได้รับ block reward ที่บิตคอยน์สร้างขึ้นลดลงทุกๆ 4 ปี และจะหมดไปในที่สุด
ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือนักขุดจะต้องได้รับผลตอบแทนจาก transaction fees ที่สูงขึ้นเพื่อมาทดแทน block reward ที่หายไป และยังสามารถจูงใจให้นักขุดยังนำเครื่องขุดมาทำงานกับเครือข่ายบิตคอยน์ต่อไป
Block reward คืออะไร
เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Fee-to-reward ratio เราจะต้องทำความรู้จักกับ Block reward มันคือผลตอบแทนที่นักขุดจะได้รับเมื่อขุดบล็อกใหม่ได้สำเร็จ โดยจะได้รับเป็น BTC จำนวนหนึ่ง ซึ่ง Block reward จะประกอบด้วย 2 ส่วน คือ block subsidy และ transaction fees
Block subsidy คืออะไร
วิธีที่เครือข่ายบิตคอยน์จะตรวจสอบความถูกต้องและสร้างบล็อกใหม่ จะต้องมีนักขุดนำเครื่องขุดที่มีกำลังประมวลผลระดับหนึ่งมาทำการคำนวณทางคณิตศาสตร์ หรือที่เรียกว่า Proof of work เมื่อเครื่องขุดทำการคำนวณสำเร็จในแต่ละรอบ นักขุดจะได้รับผลตอบแทนเป็น BTC ที่เครือข่ายสร้างขึ้นมา เรียกว่า Block subsidy ซึ่งเป็นแรงจูงใจที่ทำให้เหล่านักขุดเข้ามาขุดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
Transaction fees คืออะไร
ในแต่ละธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนเครือข่ายบิตคอยน์ ผู้ที่ทำธุรกรรมจะต้องจ่ายเงินส่วนหนึ่งเป็นค่าธรรมเนียมให้กับผู้ที่ดำเนินธุรกรรมให้สำเร็จซึ่งก็คือนักขุด โดยที่ธุรกรรมไหนให้ค่าธรรมเนียมสูงก็จะทำให้ธุรกรรมนั้นสำเร็จก่อนธุรกรรมอื่น Transaction fees จึงเปรียบเสมือนกับระบบการประมูล ที่คนไหนให้ค่าธรรมเนียมสูงกว่าระบบก็จะดำเนินธุรกรรมนั้นให้ก่อน
โดยปกติแล้วใน Block reward สัดส่วนของ transaction fees มีน้อยมาก บางครั้งการพูดถึง Block reward อาจจะหมายถึง Block subsidy เพียงอย่างเดียว แต่เมื่อเวลาผ่านไป transaction fees จะมีค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ ความแตกต่างของทั้ง 2 อย่างก็จะลดลง
Block reward มีความสำคัญอย่างไร
Block reward คือผลตอบแทนของนักขุดที่ถูกสร้างให้เป็นแรงจูงใจให้นักขุดสนใจนำเครื่องขุดมาเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายบิตคอยน์ ทำให้บิตคอยน์มีความปลอดภัยและดำเนินงานต่อไป ไอเดียของ block reward คือหัวใจสำคัญที่ทำให้กลไกทางเศรษฐกิจของบิตคอยน์ดำเนินต่อไป เพราะมันทำให้นักขุดสนใจที่จะขุดบิตคอยน์ เมื่อคนเข้ามาขุดบิตคอยน์มากขึ้น เครือข่ายก็จะมีความปลอดภัย ทำธุรกรรมได้โดยไร้ตัวกลาง ทำให้ผู้คนหันมาใช้งานบิตคอยน์เป็นตัวกลางทางการเงินเพิ่มขึ้น วนเป็นวัฏจักรต่อไป
วิธีคำนวณหา Fee-To-Reward Ratio
ส่วนใหญ่แล้ว fee-to-reward ratio จะแสดงออกมาในรูปของเปอร์เซ็นต์หรือร้อยละ หาได้โดยการนำ transaction fees หารด้วย block reward ซึ่งเขียนออกมาเป็นสมการได้ดังนี้
Fee-to-Reward ratio = transaction fees / block reward x 100%
Fee-To-Reward มีความสำคัญอย่างไร
Fee to reward ratio ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะว่าการ halving ของบิตคอยน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เครือข่ายบิตคอยน์กำหนดมาว่า block subsidy นั้นจะลดลงครึ่งหนึ่งทุกๆ 4 ปี
โดย block subsidy ของบิตคอยน์เริ่มต้นที่ 50 BTC ต่อบล็อก จากนั้นได้ลดลงมาครึ่งหนึ่งในทุกๆ 210,000 บล็อกหรือประมาณ 4 ปี จึงเหลือ 25 BTC ในปี 2012 12.5 BTC ในปี 2016 6.25 BTC ในปี 2020 และจะเหลือ 3.125 BTC ในปี 2020 ที่อัตราการ halving ระดับนี้ หมายความว่าบิตคอยน์จะถูกขุดจนหมดในปี 2140 หลังจากนั้นนักขุดจะไม่ได้รับ block subsidy อีกต่อไป แต่จะได้รับผลตอบแทนจาก transaction fees เพียงอย่างเดียว
ถึงสถานการณ์นี้จะเกิดในเวลาอีกหนึ่งร้อยปีข้างหน้า แต่ก็มีคนตั้งข้อสังเกตว่า transaction fees จะเพิ่มขึ้นมากพอ มาทดแทน block subsidy ที่จะหมดไปหรือไม่ ซึ่งตั้งแต่บิตคอยน์ถือกำเนิดมา Fee-to-reward ratio มีค่าเพียงหลักหน่วย หมายความว่า transaction fees ที่นักขุดได้รับมีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับผลตอบแทนทั้งหมด
transaction fees ถูกกำหนดโดยปัจจัยหลายอย่าง เช่น อุปสงค์ อุปทาน เมื่ออุปสงค์หรือ demand ของการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้น จะเกิดการแข่งขันระหว่างผู้ที่ต้องการทำธุรกรรมสูงขึ้น จะเกิดการ bid ค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้น เพื่อที่จะทำธุรกรรมให้สำเร็จในเวลาไม่นาน
ยกตัวอย่างเช่นในปี 2017 และ 2020 transaction fees เพิ่มขึ้นสูง เนื่องจากในช่วงเวลานั้นบิตคอยน์กำลังอยู่ในขาขึ้นและผู้คนทั่วโลกได้รู้จัก คนจึงเข้ามาทำธุรกรรมกันมากขึ้น ในปี 2023 fee-to-reward ratio ของบิตคอยน์มีค่ามากกว่า 50% หมายความว่าในขณะนั้น transaction fees มีมูลค่าสูงกว่า block subsidy
เมื่อถึงเวลาที่ block subsidy ลดจนเหลือ 0 นักขุดจะได้รับผลตอบแทนเป็น transaction fees 100% ก่อนที่จะถึงเวลานั้น transaction fees จะต้องเพิ่มขึ้นอย่างมั่นคง เพื่อที่ผลตอบแทนจะสูงพอที่จะทำให้เหล่านักขุดมีแรงจูงใจที่จะนำเครื่องขุดมาทำงานกับเครือข่ายบิตคอยน์ต่อไป แต่ก็ต้องไม่เพิ่มขึ้นสูงในทันที เพื่อไม่ให้ผู้ทำธุรกรรมหันหน้าหนีเนื่องจากค่าธรรมเนียมที่สูงเกินไป
Reference :