ความสำคัญของ Risk/Reward
นักเทรดที่จะอยู่ในตลาดได้อย่างยั่งยืนต้องมีการวางแผนการเทรดอย่างรอบคอบ ต้องคิดไว้ก่อนจะเข้าเทรดแล้วว่าจะทำกำไรที่จุดไหน และถ้ากลยุทธ์เราผิดทางเราจะ stop-loss เพื่อป้องกันการสูญเงินตรงจุดไหน ซึ่งจุดทำกำไรและจุด stop-loss นี้ เราต้องไม่นำอารมณ์มาเกี่ยวข้อง (ยกตัวอย่างเช่น เวลาเหรียญที่ซื้อไว้ราคาขึ้นแต่เราไม่ยอมขายเพื่อทำกำไรเพราะคิดว่ามันขึ้นได้อีกเพราะเกิดความโลภ แต่เวลาผ่านไปราคาก็ตกจนขาดทุน)
นักเทรดที่มีวินัยจึงอาศัยเครื่องมือในการช่วยตัดสินใจในการเทรดโดยปราศจากอารมณ์มาเข้าร่วม ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ Risk/Reward ratio
Risk/Reward ratio
Reward/Risk หรือ Risk/Reward หรือเรียกย่อๆว่า RR คืออัตราส่วนที่จะบอกเราว่าเงินลงทุนของเราที่ลงไปมีโอกาสการขาดทุนต่อโอกาสได้ผลตอบแทนเป็นเท่าไร หรือจะเปรียบเทียบอีกอย่างก็คือเงิน 1 บาทที่เราเอาไปเสี่ยงมีความสามารถสร้างผลตอบแทนได้เท่าใด
การคำนวณ Risk/Reward
นำผลตอบแทนเป้าหมายทั้งหมดมาหารด้วยความเสี่ยงทั้งหมด วิธีการก็คือมองหาจุดที่เราจะเข้าเทรดแล้วมองหาจุดที่จะทำขายกำไร และหาจุด stop-loss (จุดที่เราจะออกจากการเทรดเมื่อราคาไปผิดทาง เพื่อทำให้เราขาดทุนให้น้อยที่สุด) ซึ่งการหาจุดขายทำกำไรและจุด stop-loss จะต้องใช้การวิเคราะห์กราฟเชิงเทคนิคช่วย และต้องหาจุดพวกนี้ก่อนจะเริ่มเทรด
เมื่อได้จุดเข้าเทรดและจุดที่ออกจากการเทรดแล้ว เราสามารถคำนวณ RR ได้โดยนำช่วงจุดที่เราเข้าเทรดจนถึงจุดทำกำไร มาหารด้วย ช่วงจุดเข้าเทรดจนถึงจุด stop-loss ซึ่งตัวเลขที่แสดงออกมาคือจำนวนเท่าของ reward ต่อ risk เช่น reward 2.4 risk 1 Reward/Risk ก็คือ 2.4 เท่า ซึ่งจำนวนเท่าเยอะก็แสดงอัตราส่วน reward มาก หรือ risk น้อยนั่นเอง
สมมติว่าเราต้องการเข้าซื้อบิตคอยน์และได้ทำการวิเคราะห์แล้วว่าราคาจะขึ้นไปอีก 20 % จากราคาตอนที่เข้า และเราก็ต้องหาจุด stop-loss เมื่อราคาไม่เป็นไปตามที่เราวิเคราะห์ ซึ่งเรากำหนดไว้ว่าเมื่อราคาลดลงจากราคาที่เราเข้า 5 % เราจะ stop-loss
จากที่สมมติกำไรที่คาดหวังคือ 20% และถ้าขาดทุนจะขาดทุนมากสุด 5% reward/risk ratio = 20/5 = 4
หมายความว่าเงินที่เรานำไปเสี่ยง 1 บาท มีโอกาสทำกำไร 4 บาท สมมติเราซื้อไป 100 บาท เราเสี่ยงที่จะเสีย 5 บาทเพื่อที่จะได้กำไร 20 บาท หรือเราซื้อไป 100,000 บาท เราก็เสี่ยงเสีย 5000 บาท เพื่อจะได้ 20000 บาท ซึ่ง RR ก็คือ 4 เท่าเหมือนเดิม
ความเสี่ยงกับผลตอบแทน (Risk vs Reward)
ความเสี่ยงและผลตอบแทนไม่ได้มีอยู่แค่ในตลาดการลงทุนเท่านั้น แต่มันอยู่ในชีวิตประจำวันของเราและอยู่ใกล้เรามากจนบางทีเราอาจละเลยไป ยกตัวอย่างเช่นการเดินทางไปทำงาน มีเช้าวันหนึ่งเรานั่งรถเมล์ทางไปทำงาน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายแทนที่จะนั่งรถไฟฟ้าที่เคยนั่งเป็นประจำ ในกรณีที่เลือกนั่งรถเมล์ ผลตอบแทนก็คือการประหยัดค่าใช้จ่าย 100 บาทต่อวัน ส่วนความเสี่ยงก็คือมีเหตุการณ์ที่ทำให้ไปทำงานสาย เช่น รถติด ทำให้เรามีโอกาสโดนตักเตือนหรือตัดเงินเดือน ส่วนการนั่งรถไฟฟ้ามีผลตอบแทนคือความรวดเร็ว แต่ก็มีโอกาสที่รถเสียทำให้เราต้องรอ แต่ก็มีโอกาสเกิดน้อยกว่ารถติดมาก ซึ่งเราก็ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผลดีผลเสียจากการกระทำของเราเอง ซึ่งก็ต้องเลือกวิธีทางที่ความเสี่ยงต่ำและผลตอบแทนให้มากที่สุด แต่การเทรดแตกต่างออกไปเนื่องจากเราต้องคำนึงถึง Winrate ด้วย
Risk/Reward กับ winrate
คงจะดีไม่น้อยถ้า RR ของเรา เป็น 10 เท่าหรือ 20 เท่า แต่เราอย่าลืมว่ายิ่งผลตอบแทนที่คาดหวังสูง มันก็มีโอกาสถูกยากและต้องใช้เวลา เช่นเราตั้งจุดทำกำไรสูงๆการที่ราคาจะไปถึงจุดนั้นก็ต้องใช้เวลา หรือเหตุการณ์ที่ราคาขึ้นแต่ไปไม่ถึงจุดทำกำไรของเรา แล้วก็ร่วงมาจนเราขาดทุนก็เกิดขึ้นได้ และถ้าเราตั้ง stop-loss สั้นๆ ราคาแกว่งนิดเดียวเราก็ขาดทุนแล้ว (ไม่มีช่วงให้ราคาขยับ) ซึ่งเราต้องใช้อัตราชนะหรือ winrate ในการตั้ง RR เป็นหลัก โดยใช้แนวคิดที่ว่าเราแพ้ได้แต่เราต้องได้กำไร โดยตารางด้านล่างคือ Winrate ขั้นต่ำที่จะทำให้ไม่ขาดทุนในแต่ละ RR
จากตารางเราจะเห็น RR อยู่ทางช่องด้านซ้าย ซึ่ง RR ยิ่งน้อยอย่างเช่น 0.2 : 1 ก็ต้องการเปอร์เซนต์ถูกที่มากเพื่อที่จะไม่ขาดทุน ถ้าสมมติเราเทรด 100 ครั้ง เราต้องถูก 84 ครั้้งเพื่อจะได้กำไร แต่สำหรับ RR ที่มาก อย่างเช่น 10 : 1 ต้องการถูกแค่ 10 ครั้งจาก 100 ครั้งก็ได้กำไรแล้ว และนี่ก็เป็นเหตุผลที่เราต้องเลือก RR ที่มาก เพราะมีความคุ้มค่าและไม่ต้องมีความแม่นยำมาก แต่ก็ต้องคำนึงไว้เสมอว่า RR มากเกินก็มีโอกาสถูกยากเช่นกัน
การเทรดที่ดีไม่มีสูตรตายตัว แต่ละคนก็มีวิธีวิเคราะห์แตกต่างกัน แต่พื้นฐานการเทรดที่ทุกคนต้องมีคือการจำกัดความเสี่ยง ดูว่าผลตอบแทนที่เป็นไปได้คือเท่าไร ดูว่าเราเสียได้เท่าไรและพยายาม stop-loss อยู่เสมอ
คำพูดที่ว่าไม่ขายไม่ขาดทุนอาจจะเป็นความจริงแต่เราอาจต้องรอเป็นเดือนหรือเป็นปีเพื่อได้เงินคืน แต่ถ้าเรารู้ว่าเราเทรดผิดทางแล้วเรา stop-loss แล้วนำเงินที่เหลือไปเทรดใหม่ก็มีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้เร็วกว่า และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือจิตวิทยาการเทรด เพราะการเทรดอาจทำให้เราอยู่ในช่วงอารมณ์ที่ไม่มั่นคง แต่ถ้าเราเทรดตามแผนและจำกัดความเสี่ยงเราจะรู้ได้ว่าในระยะยาวเราจะมีโอกาสทำกำไรได้มากกว่าขาดทุน
Referrence
https://academy.binance.com/en/articles/what-is-the-risk-reward-ratio-and-how-to-use-it