บริษัทคริปโทจากญี่ปุ่นเดินหน้าเติมพอร์ต

Metaplanet บริษัทลงทุนจากญี่ปุ่นที่ถือครองบิทคอยน์มากที่สุดในประเทศ ประกาศเข้าซื้อ BTC เพิ่มอีก 2,204 เหรียญ มูลค่าประมาณ 237 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 8,600 ล้านบาท) ตามรายงานที่ยื่นเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

ราคาซื้อเฉลี่ยต่อเหรียญอยู่ที่ 15,640,253 เยน หรือประมาณ 107,700 ดอลลาร์ (ราว 3.91 ล้านบาท) ต่อ 1 BTC ซึ่งทำให้ราคาซื้อเฉลี่ยรวมของทั้งพอร์ตอยู่ที่ประมาณ 99,985 ดอลลาร์ต่อเหรียญ

 

แซง Tesla และ CleanSpark ขึ้น Top 5 โลก

ข้อมูลจากเว็บไซต์ BitcoinTreasuries.net ระบุว่า Metaplanet กลายเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ถือครองบิทคอยน์มากเป็นอันดับ 5 ของโลกแล้ว โดยในช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา Metaplanet เคยแซง Tesla ซึ่งถืออยู่ 11,509 BTC จากการเข้าซื้อ 1,234 BTC

จากนั้นไม่นาน Metaplanet ก็ซื้อเพิ่มอีก 1,005 BTC เป็นมูลค่า 108 ล้านดอลลาร์ (ราว 3,920 ล้านบาท) ทำให้ถือรวม 12,502 BTC แซงหน้าบริษัทเหมืองอย่าง CleanSpark ก่อนจะมาเพิ่มอีก 2,204 BTC ในรอบล่าสุด รวมทั้งหมด 15,555 BTC

 

แนวโน้มการถือ BTC ในภาคเอกชนยังคึกคัก

ก่อนหน้านี้บริษัท Strategy (ปัจจุบันถือครอง BTC มากสุดในโลก) ได้ประกาศซื้อเพิ่มอีก 4,980 BTC มูลค่า 531.1 ล้านดอลลาร์ (ราว 19,270 ล้านบาท) เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ทำให้รวมถืออยู่ที่ 597,325 BTC (คิดเป็นมูลค่ากว่า 2.26 ล้านล้านบาท) โดยมีราคาซื้อเฉลี่ยต่อเหรียญประมาณ 70,982 ดอลลาร์

นอกจากนี้ยังมี ProCap ของ Anthony Pompliano นักลงทุนคริปโตชื่อดัง ที่เข้าซื้อ BTC ครั้งแรก 3,724 เหรียญ มูลค่า 386 ล้านดอลลาร์ ส่วนบริษัทเทคโนโลยีการแพทย์ Semler Scientific ก็เพิ่งประกาศแผนเพิ่มพอร์ตจาก 3,808 BTC ไปเป็น 105,000 BTC ในอนาคต

 

นักวิเคราะห์เตือน: ไม่ใช่ทุกบริษัทจะรอด

แม้กระแสการถือบิทคอยน์ของภาคธุรกิจจะเติบโตต่อเนื่อง แต่ James Check นักวิเคราะห์จาก Glassnode เตือนว่า โมเดลถือครองบิทคอยน์อาจไม่ยั่งยืนสำหรับทุกบริษัท

เขาระบุว่า “กำไรที่ง่ายที่สุดอาจหมดไปแล้วสำหรับผู้เล่นรายใหม่” พร้อมตั้งคำถามว่าบริษัทจะมีโมเดลธุรกิจที่แข็งแรงและกลยุทธ์ระยะยาวในการสะสม BTC หรือไม่ เพราะในสายตานักลงทุน “ไม่มีใครอยากลงทุนในบริษัทถือบิทคอยน์อันดับที่ 50”

รายงานจากบริษัททุน Breed ก็สะท้อนมุมมองคล้ายกัน โดยเตือนว่าหลายบริษัทอาจเข้าสู่ “วงจรตาย (death spiral)” หากไม่มีแผนธุรกิจที่ชัดเจน

Reference: Cointelegraph